‘ประหลาดใจ’ ‘คุยสนุก’ ‘ลุ่มลึก’ และ ‘งดงาม’

เป็นคำที่ตกตะกอนในความรู้สึก หลังจากที่เราได้เดินชมงานนิทรรศการเดี่ยวของศิลปินไทยชื่อดังอย่าง อเล็ก เฟส (Alex Face) ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี

นิทรรศการนี้มีชื่อสั้นๆ ว่า ‘ALIVE’


เรายืนมองเขาพ่นสีสเปรย์บนชุดขนสัตว์ของเด็กน้อยสามตาหน้าบึ้งลงบนกำแพงของแกลเลอรี จนกระทั่งแสงอาทิตย์ระบายแสงสุดท้ายตรงขอบฟ้า และบทสนทนาของเราได้เริ่มต้นขึ้น

หลายคนอาจรู้จักชื่อของ อเล็ก เฟส ในฐานะศิลปินสตรีทจอมขบถ เจ้าของตัวละครคาแรกเตอร์เด็กสามตาหน้าบึ้งตึง ที่ออกเดินทางไปตามผนังกำแพงของอาคารและตึกรามต่างๆ ในไทยและต่างประเทศ แต่นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดนี้จะพาเราไปรู้จักกับโลกอีกใบของ อเล็ก เฟส หรือ พัชรพล แตงรื่น อดีตนักศึกษาวิจิตรศิลป์ คณะ

สถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

โลกของศิลปินที่ก่อนจะหอบกระป๋องสเปรย์ออกไปพ่นกำแพง มักจะพกกระเป๋าสี ขาตั้ง และเฟรมออกไปวาดภาพกลางแจ้ง หลงใหลศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ พอๆ กับศิลปะสตรีทและกราฟฟิตี้

เป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง ผู้นำแรงบันดาลใจจากใบหน้าของลูกสาวแรกคลอดมาสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ของเด็กน้อยหน้าบึ้งในชุดมาสคอตสัตว์ พร้อมตาดวงที่สามคอยเฝ้าระวังภัย

เป็นศิลปินร่วมสมัยที่มีทักษะทั้งงานปั้น งานวาด และทีแปรงอันน่าประทับใจ

 

อเล็ก เฟส ALIVE กับการทดลองครั้งใหม่ที่น่าประหลาดใจ

ห่างหายจากงานนิทรรศการเดี่ยวในไทยไปนานถึง 4 ปี แต่ใช่ว่าศิลปินผู้นี้จะไม่มีผลงานใดออกมาให้เราตื่นเต้นกันซะทีเดียว เมื่อต้นปี พัชรพล แตงรื่น หรือ อเล็ก เฟส ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานในเทศกาลศิลปะสตรีท ‘บุกรุก 2016’ ไปวาดภาพบนกำแพงอาคารเก่า จ. ภูเก็ต ร่วมกับกลุ่ม F.A.T เพื่อสนับสนุนที่ยูเนสโกได้ประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางด้านอาหาร ก่อนตัดสินใจลบภาพในที่สุด ระหว่างนั้น เขายังได้รับการติดต่อไปทำงานตามสถานที่ต่างๆ ไม่ขาดสาย

พัชรพลบอกกับ The Momentum ว่า 4 ปีที่ผ่านมา เขาเดินทางไปต่างประเทศ และมีโอกาสได้ชมผลงานระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินเอกอุที่ชื่นชอบสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือ โคลด์ โมเนต์ (Claude Monet)

ไอเดียของนิทรรศการนี้จึงค่อยๆ ก่อร่างขึ้นจากความประทับใจ พร้อมๆ กับการสำรวจตัวตนและความคิดของเขาในวัย 35 ปี

และเขาแอบสารภาพกับเราว่า อยากเป็นโมเนต์

“เราชอบงานของโมเนต์ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว เริ่มศึกษางานอิมเพรสชันนิสม์ในห้องสมุด ดูงานยุคนั้นว่ามีใคร มีวิธีการเขียนยังไง แสงเงาเป็นยังไง แล้วเราชอบโมเนต์มาก ยิ่งดูก็ยิ่งชอบ ยิ่งชอบก็ยิ่งอยากวาด แล้วเราก็แบกเฟรม กระเป๋าสี กับขาตั้งไปวาดรูปกลางแจ้งตรงแถวบ้าน

“แต่หลังๆ เริ่มซาลงไป เพราะเราโตขึ้นและเริ่มทำศิลปะสตรีท ความชอบมันยังอยู่ แค่เรามาเพนต์บนกำแพงแทน พอได้เดินทางไปยุโรป เราไปดูงานตามหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ก็มีโอกาสได้ดูงานของโมเนต์ แล้วระหว่างนั้นมีเด็กๆ เข้ามาดูงาน เดินกันเป็นแถวเลย เราก็มองว่าน่าอิจฉาจังเลยเด็กพวกนี้ (หัวเราะ) กว่าเราจะได้ดู ก็อายุตั้ง 35 แล้ว เราก็เลยอยากจำลองความรู้สึกของพิพิธภัณฑ์แบบนั้นมาอยู่ในโชว์เราด้วย สมมติว่ามีเด็กๆ มา มันอาจจะไม่ใช่ของจริง แต่มันคือการจำลองความรู้สึก ความประทับใจที่เราได้ไปตรงนั้นมา”

 

จากอิมเพรสชันนิสม์สู่สตรีทอาร์ต: ศิลปะที่ถูกปฏิเสธ กับเสน่ห์ของความขบถ

นอกจากการจำลองบรรยากาศการเดินชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะในต่างประเทศมาไว้ในนิทรรศการนี้ พัชรพลยังทำงานศิลปะหลายชิ้น หลากประเภท และปล่อยทักษะที่สั่งสมมาแบบจัดเต็มเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นเราจะไม่ได้เห็นแค่ภาพวาดบนกำแพงเหมือนอย่างเคย หากรวมไปถึงงานดรอว์อิ้ง จิตรกรรม และประติมากรรมมหึมาแบบโอเวอร์ไซส์!

ที่สำคัญ พัชรพลนำแรงบันดาลใจจากผลงานชุดสระบัว (Water Lilies) ของโคลด์ โมเนต์ มาถ่ายทอดใหม่ในโลกจินตนาการของเขา แล้วเล่าถึงปัญหาสังคมผสมผ่านตัวละครเด็กสามตาหน้าบึ้งเช่นเคย

“เราลองเอางานศิลปะที่ชอบอย่างอิมเพรสชันนิสม์ของโมเนต์ มาเล่นกับงานของเรา เพราะว่ามันมีความคล้ายคลึงกันบางอย่างตรงที่เป็นศิลปะที่ไม่ได้รับการยอมรับในตอนแรก งานอิมเพรสชันนิสม์ไม่ถูกยอมรับ เพราะตอนนั้นคนมองว่าเป็นศิลปะที่ไม่สมบูรณ์แบบ งานยุคนั้นมันต้องเนี้ยบๆ ต้องทำงานบูชาศาสนา บูชาระบอบกษัตริย์ แต่เนื้อหาของงานอิมเพรสชันนิสม์คือกลับมาสู่ความง่าย เขียนรูปชีวิตประจำวันของคนทั่วไป จนตอนหลังเป็นที่ยอมรับ เพราะสังคมมันเปลี่ยน ก็เหมือนกับสตรีทอาร์ต ตอนแรกเราอยากทำงานสตรีทอาร์ตที่ชอบส่งอาจารย์ เขาก็ไม่ยอมรับ บอกว่ามันดูเป็นการ์ตูน เวลาไปพ่นกำแพง คนก็มองเราแปลกๆ ไล่บ้าง ว่ามือบอนบ้าง พอเราทำงานมาสักระยะหนึ่ง กลายเป็นว่าสตรีทอาร์ตได้รับการยอมรับขึ้นมา เราว่าตอนนี้ทั่วโลกมีสตรีทอาร์ตหมด แล้วศิลปินก็อยากออกไปทำงานสตรีทด้วย เหมือนมันกระจายงานของเราไปสู่คนดูโดยตรง เราไม่จำเป็นต้องให้คนเข้ามาในพื้นที่ปิด แต่เอางานไปอยู่ในพื้นที่เปิดได้ตลอดเวลา”

เราจำลองบึงบัวของโมเนต์มา เพราะมันก็สะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองในบ้านเรา
มันเหมือนกับประวัติศาสตร์แม่งซ้ำรอยมาตลอด ไม่เคยเปลี่ยนเลย

 

รอยยิ้มไม่ปรากฏของเด็กน้อย กับสังคมที่ก้าวไม่พ้นรอยประวัติศาสตร์

คนที่ติดตามผลงานของ อเล็ก เฟส มาโดยตลอด จะสังเกตเห็นว่าเขามักจะหยิบประเด็นปัญหาต่างๆ มาตีแผ่ หรือไม่ก็ตั้งคำถามกับสังคม ผ่านตัวละครที่ดูน่ารักและเป็นมิตรในแบบฉบับของเขา

แม้ว่าคราวนี้เขาจะหันมาจับพู่กัน สีน้ำมัน เฟรมผ้าใบ มองโลกด้วยความคิดอ่านและประสบการณ์ของคุณพ่อลูกหนึ่ง เขายังคงสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสังคม ขณะเดียวกันก็เกี่ยวโยงความสัมพันธ์ของเด็กและครอบครัวมากขึ้น

เขาอธิบายว่าเหตุผลที่เขาเลือกผลงานชุดสระบัวมาเป็นหนึ่งในคอนเซปต์หลักของนิทรรศการนี้ เพราะต้องการสื่อถึงสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

“บึงบัวมันสวย มันเป็นงานชุดหลังๆ ของโมเนต์ในช่วงที่เขาแก่แล้ว ค่อนข้างจะเป็นงานแอ็บสแตรกต์แล้ว อีกอย่าง เรานึกถึงวิถีชีวิตของเราที่เกิดและโตมาในต่างจังหวัด บ้านติดคลอง อยู่กับน้ำ กับเรือ กับสภาพแวดล้อมที่คล้ายๆ กัน เราเลยสมมติว่าถ้าเข้าไปอยู่ในบึงบัวนั้นได้ มันจะมีอะไรในนั้นบ้าง

“เรารู้สึกว่าสภาพสังคมในตอนนี้ ปีนี้ มันนิ่งๆ ไม่มีปัญหา ไม่มีความวุ่นวาย แต่เราไม่สามารถพูดอะไรได้ มันก็เหมือนกับเราจมอยู่ในบึงบัว และบึงบัวมันจะเกิดขึ้นได้ในภาวะที่เป็นน้ำนิ่งเท่านั้น ถ้าน้ำในคลอง ในแม่น้ำ บัวมันไม่ขึ้นหรอก มันต้องอยู่ในบึง นั่นคือน้ำนิ่ง ภาวะที่มันนิ่ง เราเลยอยากเอาความรู้สึกตรงนี้มา เพียงแต่ไม่ได้พูดถึงมันตรงๆ เพราะเราพูดอะไรไม่ได้ เรายังอยู่บนเรือที่ใกล้จะจม แต่เราก็ยังมีชีวิตอยู่ แล้วบึงพวกนี้มันอันตรายสำหรับเด็ก เพราะคนจะกลัวเด็กๆ ตกน้ำ แต่เด็กของเรากลับไปอยู่ในนั้น ในภาวะที่ครุ่นคิดกังวล

“ที่จริงแล้วเราจำลองบึงบัวของโมเนต์มา เราก๊อปปี้มาเลยนะ เพราะมันก็สะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองในบ้านเรา มันเหมือนกับประวัติศาสตร์แม่งซ้ำรอยมาตลอด ไม่เคยเปลี่ยนเลย ทุกวันนี้ระบอบการปกครองที่เราอยู่มันยังก๊อปปี้กันมาเลย ทำเหมือนเดิม มันก็เหมือนกับเป็นนัยยะที่ทับซ้อนอยู่”

เมื่อ The Momentum ถามต่อว่าเป็นเพราะสังคมไม่ได้เปิดโอกาสให้เราพูดหรือแสดงออกตรงๆ หรือเปล่า” พัชรพลปฏิเสธ

“คนเราก็ยังพูดอยู่ ผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านอะไรต่างๆ แต่ด้วยกฎที่มันตั้งขึ้นมา เราไม่สามารถจะไปตรวจสอบหรือจะไปตั้งคำถามอะไรได้ เราแค่ตั้งคำถามกันเอง แต่เราไปตั้งคำถามกับระบบการปกครองไม่ได้ เราก็พูดตรงนั้นอ้อมๆ ชื่อนิทรรศการ ‘ALIVE’ มันก็เหมือนกับการกวนนิดๆ ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ กูยังทำงานอยู่นะ กูยังไม่ตาย กูยังเดินทางต่อด้วย แล้วงานของเราอาจจะแสดงถึงภาวะที่แย่แล้ว แต่กูยังไม่ตาย พยายามจะไม่จมน้ำ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ก็อาจจะพูดเรื่องวิถีชีวิตของคนที่ทำงานแบบนี้ บางทีก็อาจจะต้องดิ้นรนต่อสู้ เราศึกษางานอิมเพรสชันนิสม์ เราอ่านชีวิตโมเนต์ เขาก็ต้องต่อสู้เหมือนกัน ไม่ประสบความสำเร็จในตอนแรก ขายงานไม่ได้ ชีวิตลำบาก มันก็เหมือนกับสตรีทอาร์ต เหมือนกับศิลปะทุกอย่าง เหมือนกับคนทำงานทุกประเภท มันก็ต้องต่อสู้ ต้องพยายาม เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ให้ได้”

 

ทำงานเพื่อสื่อสารกับผู้คน และตัวตนที่ไม่แบ่งแยก

เมื่อเห็นพัชรพลลุกขึ้นมาทำอะไรหลายๆ อย่างแล้ว เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาอิ่มตัวจากการทำงานกราฟฟิตี้และศิลปะสตรีทหรือเปล่า

“ไม่ใช่ครับ” เขาตอบ

“ผมว่ามันเป็นเรื่องที่เล่ามากกว่า จริงๆ แล้วเรื่องมันจะเป็นตัวกำหนดเทคนิค บางครั้งเราอาจจะคิดเรื่องหนึ่งขึ้นมา ซึ่งอาจจะใช้การถ่ายหนังขึ้นมาสักเรื่อง เราอาจจะทดลองอะไรแบบนั้น ถ้าเราเอาเทคนิคนำก่อนแล้วเรื่องตามทีหลัง มันก็อาจจะไม่แข็งแรง

“การทำงานข้างนอกกับในแกลเลอรีมันสนุกกันคนละแบบ ข้างนอกเราเจอตัวแปรเยอะ เรามีสภาพแวดล้อมเป็นโจทย์การทำงานด้วย แต่เราก็อยากทำให้มันออกมาให้ดีที่สุด เพราะมันเป็น free art บางงานที่เราทำมันทำให้ชุมชนดูมีสีสันขึ้นมา มีคนมาถ่ายรูป คนแถวนั้นก็ขายของดีขึ้น ทำให้เกิดกิจกรรมในแหล่งชุมชน

“ที่งานของเราคุยกับคนหลายแบบ หลายรุ่น คงเพราะคาแรกเตอร์มันดูซอฟต์มากกว่า ถึงเราจะเล่าเรื่องซีเรียส แต่ตัวละครของเรามันดูเป็นมิตรกับคน”

ก่อนจากกัน เราถามเขาว่าคาดหวังจากโชว์นี้มากน้อยแค่ไหน

พัชรพลยิ้ม

“เวลาเราไปดูงานศิลปะแล้วเห็นคนอุทานว่า เหี้ย! อะไรวะเนี่ย เจ๋งว่ะ เราอยากให้คนที่มาดู หรือว่าเพนเตอร์ได้ดูงานของเราแล้วรู้สึกแบบนั้น เราว่านี่คือการได้รับการยอมรับจากเพนเตอร์ด้วยกัน เราก็อยากให้คนดูรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน อยากให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ดูแล้วเพลินด้วยเทคนิค ดูทักษะ ดีเทลของทีแปรง และสี ไม่ใช่มีแต่ไอเดียอย่างเดียว เราอยากให้มันมีทักษะอยู่ในนั้นด้วย เพราะเราเชื่อว่าลึกๆ แล้วคนเราก็ยังมีความสุขกับการได้มองรูป เห็นสีสวยๆ ดูฟอร์ม ดูแสง ดูงานสวยๆ เราอยากให้คนได้ตรงนี้ด้วย แต่หลังจากนั้นเขาจะได้ไอเดียอะไรกลับไป ก็แล้วแต่เขา อีกอย่างเราแค่อยากเต็มที่ให้มากที่สุด พอจบตรงนี้เราจะได้ก้าวต่อไปทำงานใหม่ๆ ไม่ต้องมาติดใจว่าตอนนั้นน่าจะทำอย่างนี้”

นิทรรศการ ALIVE โดย อเล็ก เฟส หรือ พัชรพล แตงรื่น
Date:
 จัดแสดงวันนี้-19 กุมภาพันธ์ 2560
Place: บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 13.00-19.00 น.
Page: https://www.facebook.com/bangkokcitycity

 

 

ถ่ายภาพโดย พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

Tags: , , ,