ในสายตาของศิลปินหรือคนที่ชื่นชอบงานสตรีตอาร์ต กราฟิตีเป็นกิจกรรมทางสุนทรียศาสตร์ที่สามารถกระทำและชื่นชมได้บนท้องถนนหรือในพื้นที่สาธารณะ แต่ในสายตาผู้เป็นเจ้าของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง กราฟิตีอาจเป็นเพียงร่องรอยสกปรกเลอะเทอะของพวกมือบอนที่สร้างความรำคาญตารำคาญใจ จนต้องหาทางลบทิ้งเช็ดถูมันออกให้ได้อยู่ร่ำไป

ในสายตาของผู้มีอำนาจบริหารจัดการบ้านเมือง กราฟิตีสำหรับพวกเขาถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ ทั้งในแง่การฝ่าฝืนกฎระเบียบที่เคร่งครัด รวมถึงการเยาะเย้ยความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามจับกุม

แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตัวละครที่เข้ามาพัวพันกับกราฟิตีไม่ได้มีเพียงแค่นั้น?

และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกราฟิตี งานที่ถูกสร้างขึ้นภายในเวลาแค่ไม่กี่นาทีบนท้องถนนหรือบนผนังบ้านของใครสักคน คืองานของศิลปินนิรนามที่ไม่นิรนามอย่างแบงก์ซี (Banksy) บุคคลที่ศิลปินกราฟิตีใหญ่น้อยยกให้เป็น ‘พ่อทุกสถาบัน’ แบบไม่ต้องลงลายเซ็น

ไบรอัน กรีฟ

สตรีตอาร์ตหรือรอยเลอะที่อาม่าหรือใครเปิดประตูบ้านมาเจอในเช้าวันหนึ่ง อาจมีมูลค่าสูงถึง 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 24 ล้านบาทแค่นั้นเอง

Saving Banksy คือหนังสารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 20 นาที กำกับโดยคอลิน เดย์ (Colin Day) ที่พาเราไปสำรวจรอยแยกบางๆ บนกำแพงงานกราฟิตีของศิลปินระดับโลกอย่างแบงก์ซี (Banksy) ระหว่างการตระเวนสร้างงานของเขาในซานฟรานซิสโก ท่ามกลางสงครามแห่งการพิทักษ์และช่วงชิงผลประโยชน์ของคนสองฝ่าย โดยฝ่ายแรกนำโดยไบรอัน กรีฟ (Brian Greif) นักสะสมศิลปะผู้พยายามเก็บรักษาผลงานชิ้นหนึ่งของแบงก์ซี เพื่อบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์สักแห่ง ก่อนที่มันจะถูกลบหรือทำให้เสียหายไปตามวงจรชีวิตอันแสนสั้นของกราฟิตี ด้วยความหวังจะให้มันเป็นสมบัติของสาธารณะที่ทุกคนมีโอกาสได้ชื่นชมต่อไป

แต่เรื่องไม่ได้ดำเนินไปอย่างงดงามสมกับความตั้งใจดีของเขา เมื่อไบรอันต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งการเจรจาต่อรองกับเจ้าของตึกเพื่อขอหั่นฝาบ้านที่มีงานของแบงก์ซีออก ตลอดจนแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ อันเนื่องมาจากกฎหมายของซานฟรานซิสโกที่บังคับให้เจ้าของอาคารต้องเสียค่าปรับ หากไม่ลบกราฟิตีออกภายในระยะเวลาที่กำหนด ยังไม่รวมถึงการที่เขาต้องดำเนินการทุกอย่างแข่งกับเวลา เพราะทุกวันที่เสียไป นั่นหมายความว่าโอกาสที่งานของแบงก์ซีจะเสียหายจากการถูกลบหรือติดแท็กทับก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ฟังดูยุ่งยากซับซ้อน แต่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่ากับการที่เขาต้องเผชิญหน้ากับสเตฟาน เคสซ์เลอร์ (Stephan Keszler) พ่อค้าศิลปะหัวใสที่โลกของสตรีตอาร์ตขนานนามว่าเป็น ‘จอมวายร้าย’ หรือ ‘ทนายไร้จรรยาบรรณ’ ผู้หากินกับความเป็นนิรนามของแบงก์ซีมาโดยตลอด แม้เคสซ์เลอร์จะอ้างตนเป็นแฟนตัวยงของแบงก์ซี แต่สิ่งที่เขาทำกลับดูเหมือนเป็นการไล่ล่าครอบครองผลงานของแบงก์ซีที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อจำหน่ายให้กับนักสะสมงานศิลปะกระเป๋าตุงเสียมากกว่า

ดูเหมือนภาวะไร้ตัวตนของแบงก์ซีจะเปิดโอกาสให้ตัวละครทั้งสองเข้ามามีบทบาทโลดแล่นในสนามแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ (ส่วนตัว) และความชอบธรรมจากการเก็บรักษาผลงานของเขาอย่างเต็มที่ แม้ว่าสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพยายามทำอาจจะขัดกับวัตถุประสงค์ของศิลปินและบริบทของการสร้างงานสตรีตอาร์ต ทั้งในแง่ของการพยายามนำงานกราฟิตีซึ่งแต่เดิมสามารถถูกทำซ้ำ ทำลาย ทำให้หายไป หรือสร้างขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างเป็นอิสระ เข้าไปแขวนอยู่ในพื้นที่ปิดของพิพิธภัณฑ์ ที่ที่ใครก็ตามไม่อาจและไม่สามารถแตะต้องมันได้อีกต่อไป หรือการนำงานกราฟิตีที่ใครๆ ก็ชื่นชมมันได้บนท้องถนน ไปจำหน่ายเพื่อเก็บเข้าคอลเลกชันส่วนตัวของมหาเศรษฐี ซึ่งผู้ชมจะเป็นใครอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากครอบครัวและเพื่อนฝูงเพียงไม่กี่คน ขณะที่เจ้าของผลงานอย่างแบงก์ซีกลับไม่ได้มอบอำนาจแสดงความยินยอมหรือได้รับส่วนแบ่งใดๆ จากการจำหน่ายผลงานของเขาแม้แต่บาทเดียว

หลังจากใช้ความพยายามอยู่หลายเดือน ไบรอันก็เจรจาต่อรองเพื่อรื้องานของแบงก์ซีออกจากตัวอาคารในย่านประวัติศาสตร์ Haight-Ashbury ของเมืองซานฟรานซิสโกได้ ภาพหนูสวมหมวกที่ตรงกลางปรากฏสัญลักษณ์รูปดาวและในมือถือปากกาเคมีที่ถูกตั้งชื่อว่า ‘Haight Street Rat’ ถูกห่ออย่างแน่นหนาด้วยผ้าห่มของไบรอัน และถูกเก็บซ่อนไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในที่พักส่วนตัวของเขาอย่างมิดชิด เพื่อรอวันส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ที่ไหนสักแห่งตามจุดประสงค์แรกและจุดประสงค์เดียวของเขา

​แต่ท้ายที่สุด ไบรอันก็ต้องผิดหวัง เมื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซานฟรานซิสโก (San Francisco Museum of Modern Art: SF MOMA) ปฏิเสธที่จะรับเจ้าหนู Haight Street Rat เข้าไว้ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ เว้นแต่ว่าศิลปินเจ้าของผลงานจะลงลายมือชื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือมีหนังสือยินยอมมอบผลงานดังกล่าวให้กับพิพิธภัณฑ์ ทั้งยังให้เหตุผลอีกด้วยว่า โดยหลักการแล้ว การเก็บรักษางานของแบงก์ซีไว้ในพิพิธภัณฑ์ถือว่าขัดกับวัตถุประสงค์ของศิลปิน ซึ่งต้องการให้งานของตนปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

​เมื่อมาถึงจุดนี้จึงน่าสังเกตว่าแนวคิดเกี่ยวกับคำว่า ‘สาธารณะ’ หรือ ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในความหมายของไบรอันที่เห็นว่าพิพิธภัณฑ์คือความเป็นสาธารณะ และมุมมองของภัณฑารักษ์ของ SF MOMA ในบริบทนี้ มีระดับนิยามที่แตกต่างกัน

ตลกร้ายของเรื่องราวทั้งหมดยังไม่จบลงแค่นั้น เมื่อแบงก์ซีตัดสินใจฉีกหน้าพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามโดยการยอมรับอย่างเป็นทางการด้วยการลงรูปเจ้าหนู Haight Street Rat ในเว็บไซต์ของเขา

ในเวลาเดียวกัน ผลงานชิ้นนี้ก็ถูกเสนอราคาสูงหลายล้านบาทจากนักสะสมที่พยายามติดต่อขอซื้อจากไบรอันตลอดเวลา ทว่านั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนใจรับเจ้าหนูของแบงก์ซีเข้าไว้ในคอลเล็กชัน

​​ในสายตาของหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ผลงานของศิลปินนิรนามที่แม้จะได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะทั่วโลก ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และอยู่นอกเหนือเงื่อนไขในการจัดแสดง ส่วนความพยายามที่จะให้แบงก์ซียอมรับว่าเป็นผลงานของเขาแบบเป็นลายลักษณ์อักษรก็เป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะนั่นเท่ากับว่าแบงก์ซียอมรับพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายของเขาไปโดยปริยาย ทั้งการบุกรุกเคหสถาน รวมทั้งการสร้างความเสียหายให้กับสมบัติสาธารณะหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

เมื่อเจ้าหนู Haight Street Rat ถูกพิพิธภัณฑ์สามแห่งปฏิเสธ จอมวายร้ายอย่างเคสซ์เลอร์จึงไม่รีรอที่จะติดต่อขอนำผลงานชิ้นนี้ไปจัดแสดงร่วมกับผลงานชิ้นอื่นของแบงก์ซีที่เขารื้อถอนมาจากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ในนิทรรศการขนาดย่อมในงานอาร์ตแฟร์ระดับโลกที่ชื่อ Art Miami

การเจรจาต่อรองของเคสซ์เลอร์เป็นผล เมื่อเขาบอกกับไบรอันว่านิทรรศการนี้จะเพิ่มโอกาสในการหาพิพิธภัณฑ์ให้กับเจ้าหนู Haight Street Rat

ในที่สุด แผ่นไม้เก่าๆ ที่ถูกห่อไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในบ้านของไบรอันตลอดระยะเวลาสองปีก็ถูกประกอบเข้าด้วยกันอีกครั้ง ในงานอาร์ตแฟร์ที่รายล้อมไปด้วยนักสะสมศิลปะระดับไฮเอ็นด์ ภายใต้บรรยากาศงานเลี้ยงค็อกเทลหรู และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ยืนคุ้มกันงานของแบงก์ซีตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องราวการเดินทางของ Haight Street Rat เจ้าหนูธรรมดาที่ไม่ธรรมดา จึงสอดแทรกหลายประเด็นสำคัญที่ไปไกลเกินกว่าคำถามว่าแบงก์ซีมีตัวตนจริงหรือไม่ เพราะมันเต็มไปด้วยแง่คิดอื่นๆ เช่น ใครมีสิทธิ์ครอบครอง จำหน่าย เคลื่อนย้าย หรือเผยแพร่ผลงานของเขา เมื่อผลงานนั้นๆ ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แบงก์ซีควรหรือไม่ควรมีสิทธิ์ในผลงานนั้นๆ หรือไม่ นักสะสมควรสนับสนุนการซื้อขายประมูลผลงานของแบงก์ซีจากเคสซ์เลอร์หรือไม่ และสิ่งที่พ่อค้าหัวใสอย่างเคสซ์เลอร์ทำ ควรได้รับการยินยอมจากศิลปินหรือไม่ เพราะถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง จะเห็นว่าแบงก์ซีก็ ‘รุกล้ำ’ พื้นที่ของผู้อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากผู้อื่นด้วยเช่นกัน

‘public space’ หรือที่สาธารณะ ในความหมายของแบงก์ซีหรือศิลปินสตรีตอาร์ตคนอื่นๆ หมายถึงที่สาธารณะอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อจะสร้างงานในพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น นอกจากนี้ยังรวมถึงคำถามที่ว่า อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการสร้างงานศิลปะกับการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น การรื้อถอนงานกราฟิตีออกจากบริบทดั้งเดิมของมันมาไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การล่าสัตว์ เพื่อตัดเอาหัวของมันมาแขวนประดับไว้ที่บ้าน อะไรหรือใครที่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าสิ่งใดควรค่าหรือไม่ควรค่าแก่การเก็บรักษา คุณค่าที่แท้จริงของงานกราฟิตีคืออะไร และมันควรจะได้รับการยอมรับจากรัฐหรือไม่ และถ้าควร บริบทของมันจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามน่าคิดจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่ตลอดทั้งเรื่องยังสอดแทรกด้วยความคิดเห็นต่างแง่มุมจากศิลปินมีชื่อระดับแถวหน้าของวงการสตรีตอาร์ตอีกหลายคน รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (ยกเว้นแบงก์ซี) ในขณะที่ เคสซ์เลอร์ก็ยังคงเดินหน้าไล่ล่ารื้อถอนผลงานของแบงก์ซีเพื่อจำหน่ายให้กับนักสะสมอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด และแบงก์ซีก็ยังสร้างงานชิ้นใหม่ๆ ออกมานับไม่ถ้วน

เรื่องราวของเจ้าหนู Haight Street Rat ที่ถูกเสนอมูลค่ามากถึง 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ ชายผู้พิทักษ์มันจะพ่ายแพ้ให้กับอำนาจเงินหรือไม่ และงานของศิลปินนิรนามอย่างแบงก์ซีจะถูกเก็บรักษา ถูกทำลาย หรือตกอยู่ในเงื้อมมือของใคร อาจไม่สำคัญเท่ากับการที่เราได้เห็นวิวัฒนาการของงานกราฟิตี ซึ่งเคลื่อนตัวไปตามบริบทของเวลาและยุคสมัย กระทั่งกลายเป็นประเด็นให้ผู้คนได้ขบคิดถกเถียงถึงคุณค่าที่แท้จริง

เพราะหากวันใดวันหนึ่ง เราตื่นขึ้นมาในตอนเช้าและเห็นผลงานของแบงก์ซีปรากฏอยู่บนกำแพงบ้าน เราอาจต้องถามตัวเองใหม่อีกครั้งว่าควรจะลบมัน ส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ หรือขายมันให้กับนักสะสมกันแน่

Tags: , , , , , , , , , , ,