หนึ่งในหัวใจสำคัญของคีย์โน้ตเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ของแอปเปิลเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา คือการให้ความสำคัญกับ ‘ใบหน้า’ ของมนุษย์เป็นพิเศษ

แอปเปิลโฆษณาว่าระบบเฟซไอดี (face ID) ที่ใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (face recognition technology) จะเป็นมิติใหม่ในการปลดล็อคโทรศัพท์และการซื้อสินค้าผ่าน Apple Pay หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่ปลอดภัยและเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะ “ใบหน้าของผู้ใช้คือพาสเวิร์ด”

แอปเปิลยังพัฒนาการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าให้มีสีสันมากขึ้น ด้วยการให้ผู้ใช้ส่ง ‘อนิโมจิ’ (Animoji) หรืออีโมจิรูปใบหน้าของเราในรูปแบบการ์ตูนเคลื่อนไหวผ่านระบบแชต

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ เพราะทางบริษัทได้พัฒนาระบบ TrueDepth camera system ของกล้องหน้าไอโฟนเท็น (iPhone X) ที่มีความสามารถประมวลความลึกแบบสามมิติ ด้วยการอัดเทคโนโลยีร่วมสมัยทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่กล้องถ่ายรูปดิจิทัล กล้องอินฟาเรด (infrared camera) เครื่องฉายแสงแบบอ่อน (flood illuminator) เครื่องฉายลำแสงแบบลายจุด (dot projector) เซ็นเซอร์จับระยะห่าง (proximity sensor) เซ็นเซอร์จับแสง (ambient light sensor) ไว้บนส่วนเว้าด้านบนจอโทรศัพท์

ถึงตรงนี้ต้องให้เครดิตบทบาทของแอปเปิลในการดึงสาธารณชนให้หันมาสนใจเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าอย่างจริงจัง แม้ว่าแอปเปิลจะไม่ใช่ผู้ริเริ่มคิดค้นเทคโนโลยีนี้ก็ตามที เพราะถึงแม้ว่าบริษัทอย่างไมโครซอฟต์และซัมซุง ริเริ่มคิดค้นและนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้เป็นพาสเวิร์ด โดยทางฝั่งไมโครซอฟต์มีฟีเจอร์ ‘Windows Hello’ ที่ให้ผู้ใช้ล็อคอินได้ด้วยการจ้องมองไปที่กล้องคอมพิวเตอร์ ส่วนซัมซุงก็เปิดตัว ‘Iris Scanner’ ที่ใช้ม่านตาของผู้ใช้เป็นพาสเวิร์ดปลดล็อคโทรศัพท์ Galaxy S8

แต่เทคโนโลยีของสองค่ายหลังเป็นการจดจำใบหน้าแบบสองมิติที่เป็นรูปภาพแบนๆ ในขณะที่เฟซไอดีของแอปเปิลสามารถเก็บเค้าโครงหน้าของผู้ใช้แบบสามมิติ ที่ให้ความละเอียดใกล้เคียงกับรายละเอียดของงานประติมากรรม

สิ่งที่แอปเปิลทำคือการดัดแปลงและย่อส่วนเทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนหน้าทว่ามีราคาสูง ให้อยู่ในอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคและนักพัฒนาแอปฯ ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

ฟีเจอร์อนิโมจิเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ล้ำสมัย คอหนังส่วนมากต้องเคยได้ยินการสร้างกราฟิกสามมิติด้วยเทคโนโลยี Motion Capture (Mocap) ที่เปลี่ยนใบหน้าและร่างกายของ แอนดี เซอร์คิส (Andy Serkis) ให้กลายเป็นกอลลัมและซีซาร์ โดยกวาดรางวัลสเปเซียลเอฟเฟคยอดเยี่ยมมาแทบทุกเวที เกมเมอร์ขาแดนซ์ที่เพลิดเพลินไปกับการเต้นรำตามตัวละครในเกม Dance Central ก็เคยสัมผัสเทคโนโลยีกล้องดิจิทัลที่ทำงานควบคู่กับเครื่องฉายลำแสงแบบลายจุดและเซ็นเซอร์จับระยะห่างในการจับท่วงท่าของผู้เล่น

ในแง่นี้ สิ่งที่แอปเปิลทำคือการดัดแปลงและย่อส่วนเทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนหน้าทว่ามีราคาสูง ให้อยู่ในอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคและนักพัฒนาแอปฯ ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเปิดโอกาสให้คู่แข่งค่ายอื่นๆ ใช้การออกแบบของแอปเปิลเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อไป

นอกเหนือจากฟีเจอร์เฟซไอดีอันล้ำสมัยแล้ว โทรศัพท์รุ่นใหม่ราคาแพงของแอปเปิลก็มาพร้อมกับระบบการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (machine learning) ที่ช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายภาพบุคคล (Portrait) ได้สมจริงยิ่งกว่าจริง เพราะกล้องจะคำนวณปริมาณของแสงและเงาที่เหมาะสมกับใบหน้าโดยอัตโนมัติ พูดง่ายๆ ก็คือ โทรศัพท์รุ่นใหม่ของแอปเปิลมีความพยายามจะเก็บ ‘ใบหน้า’ ของผู้ใช้ไว้ในคลังข้อมูลไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

ความพยายามที่จะเก็บใบหน้าของผู้ใช้นี้เอง ที่ทำให้นิตยสารชั้นนำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อย่าง Wired แสดงความวิตกกังวลต่อประเด็นความปลอดภัยของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ที่จะกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมการผลิตสมาร์ตโฟน และมาตรการรักษาความปลอดภัยผ่านข้อมูลชีวะ (biometric data) มากเป็นพิเศษ

Wired ตีพิมพ์คอลัมน์อภิปรายผลกระทบของเฟซไอดีและเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า โดยเจาะประเด็นเรื่องความปลอดภัย อคติทางชาติพันธุ์ที่เทคโนโลยีจดจำใบหน้าล้มเหลวในการอ่านใบหน้าของคนที่มีสีผิวคล้ำ และความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจดจำใบหน้าจะกลายสภาพเป็นเครื่องมือการสอดแนมประชาชนโดยรัฐและเก็บพฤติกรรมการบริโภคโดยบริษัทห้างร้าน

โดยรวมแล้ว ความกังวลของนักข่าวจากนิตยสาร Wired ที่มีต่อเฟซไอดี คือการแปรสภาพให้ร่างกายของมนุษย์เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (quantifiable data) ที่เอื้อให้ผู้ที่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลชุดนี้ นำไปหาผลประโยชน์ได้ต่อ

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า เบื้องหลังของอัลกอริทึม (algorithm) ก็คือมนุษย์ที่มีฐานคิดเป็นอคติบางอย่างเสมอ อย่างน้อยก็เป็นอคติที่สอนให้ AI บอกว่า อะไรที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ ไม่อย่างนั้นแล้ว ในสายตาของซอฟต์แวร์ มันอาจมองเราว่าเป็นสัตว์ที่มีเค้าโครงหน้าที่หลากหลายเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากเทคโนโลยีจดจำใบหน้าโดยตรง ที่นักข่าวเทคโนโลยีมองข้ามและแอปเปิลไม่มีวันพูดจะพูดถึง คือเรื่อง ความชรา และเทคโนโลยี

ความกังวลที่มีต่อเฟซไอดี คือการแปรสภาพให้ร่างกายของมนุษย์เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (quantifiable data) ที่เอื้อให้ผู้ที่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลชุดนี้ นำไปหาผลประโยชน์ได้ต่อ

 

‘ความแก่ชรา’ (aging) แทบจะเป็นคำต้องห้ามในแวดวงเทคโนโลยีที่ขาย ‘ความใหม่’ เป็นสินค้าและมโนทัศน์ การตลาดและการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า อุปกรณ์เครื่องใหม่จะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์และฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะช่วยบันดาลให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น ขอเพียงแต่ผู้บริโภคมีเงินมากพอที่จะซื้อเทคโนโลยีชิ้นใหม่ที่ล้ำหน้าและแพงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาเมื่อปีที่แล้วก็เป็นพอ (ผู้เขียนเองก็อยากจะได้ไอโฟนเท็นมาครอบครอง และก็พยายามหลอกตัวเองให้ตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็น่าจะจุดประกายให้ผู้เขียนผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ ออกมาจนคุ้มค่ากับการลงทุนในที่สุด)

แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกบดบังและกลบฝังไว้ใต้การถูกกระตุ้นให้บริโภคเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้อยู่เสมอ คือกระบวนการการ ‘แก่ชรา’ ไปพร้อมๆ กับอุปกรณ์ของเรา

เรื่องความแก่ชราและเทคโนโลยีนี้ ไม่ควรถูกละเลยในโลกที่ใบหน้ากำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งอินพุต (input) สำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์นอกเหนือไปจากการสแกนลายนิ้วมือ เราสัมผัสได้ถึงสัจธรรมของสังขารที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ด้วยการสังเกตริ้วรอยบนใบหน้าของเราในกระจกหรือด้วยความเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และแน่นอนว่า ใบหน้าของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงและทรุดโทรมไปได้เร็วกว่าลายนิ้วมือ นั่นหมายความว่า สิ่งที่เฟซไอดีและซอฟต์แวร์บันทึกใบหน้าเห็นเป็นอันดับแรก คือร่องรอยของกาลเวลาที่ปรากฏขึ้นบน ‘ใบหน้า’ ที่เป็นรูปธรรม

‘เวลา’ คือข้อมูลที่เป็นฝาแฝดของ ‘ใบหน้า’ ภาพสะท้อนในกระจกและคำทักทายจากบุคคลรอบข้างในชีวิตของเราเปรียบเสมือนนาฬิกาประเภทหนึ่ง ขอบตาที่คล้ำดำเป็นสัญญาณว่า เราทำงานหนักไปและเราควรนอนหลับพักผ่อนให้มากขึ้น หรือซื้อครีมบำรุงผิวที่มีประสิทธิภาพดีกว่าตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เฟซไอดีทำหน้าที่ ‘อ่าน’ ใบหน้าของผู้ใช้เพื่อยืนยันตนและปลดล็อคโทรศัพท์ ขณะเดียวกันก็อ่านใบหน้าเพื่อประมวลผลความเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมสภาพของร่างกายไปพร้อมๆ กันด้วย

‘เวลา’ คือข้อมูลที่เป็นฝาแฝดของ ‘ใบหน้า’ ภาพสะท้อนในกระจกและคำทักทายจากบุคคลรอบข้างในชีวิตของเราเปรียบเสมือนนาฬิกาประเภทหนึ่ง

หากมองในมุมนี้เฟซไอดีมีฟังก์ชันลับที่แอปเปิลไม่เปิดเผยกับเราโดยตรง นั่นก็คือฟีเจอร์นี้ทำหน้าที่เป็น ‘นาฬิกาจับเวลา’ ที่คอยบันทึกความเสื่อมสลายของร่างกายเราอย่างเงียบเชียบ คงไม่ไกลเกินกว่าจินตนาการนักที่ข้อมูลร่องรอยของเวลาบนใบหน้าจะถูกผนวกเข้ากับข้อมูลจากซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลด้านสุขภาพ (health tracking software) เพื่อประมวลว่าผู้ใช้มีเวลาเท่าไรในการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย แต่งตัว ทำงาน และหายใจอยู่บนโลก โดยที่ผู้ใช้ไม่มีทางเข้าถึงได้ว่าอัลกอริทึมของซอฟต์แวร์จะประมวลการเสื่อมสลายของร่างกายเราว่าอย่างไร

แล้วข้อมูลเหล่านี้จะตกไปอยู่ที่ไหนและกับใครบ้าง เราทำได้แค่เชื่อว่าแอปเปิลหวังดีต่อเรา ถ้าเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคอะไรก็แค่รอให้แอปเปิลส่ง patch มาแก้ไข bug กับรอซื้อผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันแต่ใหม่กว่าในปลายปีหน้า

บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีอย่างแอปเปิลมีบทบาทในการ ‘ลดทอนทางเลือก’ ในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้กับอุปกรณ์ในนามของความก้าวหน้าและความสะดวกสบาย ตั้งแต่ยกเลิกการผลิตไอพอดที่ใช้คลิกวีล (click wheel) เพื่อเลือกเพลง ช่องใส่ซีดีรอม และยูเอสบีเอในแม็คบุ๊ก ปีที่แล้วก็ถึงคราวที่ช่องเสียบหูฟังต้องลาจาก ถ้าปีนี้เป็นคิวของปุ่มโฮมก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย

แอปเปิลชอบเปรียบประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทว่าคล้ายกับการใช้เวทมนตร์ การที่ไอโฟนเท็นถูกลดทอนจนเหลือแค่จอกระจกและผู้ช่วยที่เป็นปัญญาประดิษฐ์อย่าง Siri รังสรรค์อุปกรณ์ชิ้นนี้เปรียบเสมือนกับกระจกวิเศษในเทพนิยายที่จดจำใบหน้าของราชินี อันล็อคเวทมนต์ต่างๆ และตอบคำถามที่นางอยากจะได้ยินแต่เพียงผู้เดียว

โดยที่ตัวราชินีเองก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า กระจกวิเศษนั้นอาจจะลอบจำข้อมูลใบหน้าของนางเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับใบหน้าของหญิงสาวสักคน ยิ่งส่องกระจกวิเศษก็ยากที่หยั่งรู้ถึงใบหน้าจริงๆ ของตนเอง มารู้ตัวอีกที ตัวราชินีนั้นก็หาใช่ “The fairest of them all” แล้ว

Tags: , , , ,