ชาวฝรั่งเศสเลือก เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) นักการเมืองหน้าใหม่วัย 39 เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนน 66.06 : 33.94%

แม้คะแนนของมาครงจะทิ้งห่าง มารีน เลอเปน (Marine Le Pen) คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคแนวหน้าแห่งชาติ (France’s National Front: FN) แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นการเลือกตั้งที่มีคนมาใช้สิทธิ์น้อยที่สุดในรอบ 50 ปี และยังมีคนใช้สิทธิ์แต่ไม่ออกเสียงมากถึง 8.8%

มาครงไม่เพียงเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเท่านั้น เขายังเป็นหน้าใหม่ในเวทีการเมือง โดยครั้งนี้เป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต จากอดีตนักการเงินการธนาคาร เขาทำงานเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดี ฟร็องซัว ออล็องด์ (François Hollande) ก่อนจะลาออกเพื่อมาตั้งกลุ่มการเมือง En Marche ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยประกาศตัวเป็นทางเลือกใหม่เดินทางสายกลาง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศ

Photo: REUTERS/Eric Gaillard

ไม่อยากเลือกมาครง แต่ไม่เอา Frexit

ทั่วโลกอาจจะอุ่นใจ เพราะชัยชนะของมาครงคือสัญญาณที่บอกได้ว่าฝรั่งเศสจะไม่พาตัวเองออกจากสหภาพยุโรป อันเป็นประเด็นเดิมพันของการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ต้องยอมรับว่าเสียงโหวตที่มาครงได้มา ใช่ว่าจะมาจากความนิยมในตัวเขาล้วนๆ มีคนจำนวนมากเลือกเขาเพื่อจะหนีนักการเมืองจากพรรคขวาจัดอย่าง มารีน เลอเปน

เอาเข้าจริง แม้จะด้วยเหตุผลที่ต่างกัน ทั้งกลุ่มซ้ายจัดและขวาจัดต่างก็ตั้งข้อกังขาถึงการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป กลุ่มขวาจัดใส่ใจเรื่องชาตินิยมและไม่อยากให้การเคลื่อนย้ายพรมแดนเสรีมารบกวนเขตแดน ส่วนกลุ่มซ้ายจัดก็รู้สึกว่าอียูเป็นกลไกที่เอื้อนักล็อบบี้ของบรรษัทต่างๆ มากกว่าการต่อสู้เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียม ข้อกังขาเหล่านี้ เมื่อผนวกกับกระแสโลกตั้งแต่ปี 2016 ที่ชาวบริเตนเลือก Brexit ลงประชามติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ตามด้วยอเมริกันชนที่เลือกทรัมป์ ผู้ประกาศนโยบายต้านผู้อพยพ การเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งนี้ก็สร้างความหนาวๆ ร้อนๆ ว่าโลกกำลังจะแบ่งแยก ทำให้ประชาคมโลกลุ้นการเลือกตั้งฝรั่งเศสกันตัวโก่ง ว่าจะกระทบกับสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปหรือไม่

ขณะที่ มารีน เลอเปน ประกาศนโยบาย France First – ฝรั่งเศสต้องมาก่อน โดยจะคุมเข้มนโยบายรับแรงงานข้ามชาติ ปิดพรมแดนเรื่องผู้ลี้ภัย และจะเดินหน้าทำประชามติ Frexit ให้ฝรั่งเศสออกจากอียู ด้าน เอ็มมานูเอล มาครง ก็ประกาศตัวว่าไม่ใช่กลุ่มซ้ายหรือกลุ่มขวา แต่เป็นกลุ่มตรงกลาง ความกลางๆ นี้มากับภาพที่ไม่ชัดเจนว่าเขามีจุดยืนอย่างไร ทุกอย่างที่เขาพูดดูจะกลางๆ ไปเสียหมด ในทางการตลาด เขาจึงกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการลงคะแนน ไม่ใช่เพราะตัวเขาเสียทีเดียว แต่เพื่อขวางไม่ให้เลอเปนได้ตำแหน่ง พลังของการพยายามหนีเลอเปนรุนแรงข้ามทวีป ถึงขนาดที่ช่วงไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยังต้องออกมาดึงกระแส ประกาศสนับสนุนมาครงต่อสาธารณะ

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งรอบสอง จากรอบแรกที่มีผู้เข้าชิง 11 คน แต่เนื่องจากครั้งนั้น คะแนนเสียงแตกจนไม่มีใครได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ จึงต้องปาดเอาสองคนที่ได้คะแนนสูงสุดมาแข่งกันในการเลือกตั้งรอบสอง สำหรับชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เหลือสองตัวเลือกอย่างเลอเปนและมาครง คือความทุกข์ใจ เพราะต้องเลือกจากตัวเลือกที่ไม่ชอบใจทั้งคู่

บรรยากาศที่ความเห็นในสังคมฝรั่งเศสแตกเป็นหลายเสี่ยงสะท้อนชัดจากคะแนนเลือกตั้ง ดังที่จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ในรอบนี้ ลดลงจากก่อนหน้าที่มีจำนวน 72% เหลือ 65.4% แม้ตัวเลขการใช้สิทธิ์จะสูงเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ แต่ถือว่าน้อยสำหรับคนฝรั่งเศส ยังไม่นับว่ามีผู้ไปใช้สิทธ์ แต่ส่งกระดาษเปล่าหรือทำบัตรเสียราว 4 ล้านคน คิดเป็น 8.8% ซึ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์

Photo: REUTERS/Jean-Paul Pelissier

ด่านถัดไป สะสมเสียงข้างมากในสภา

การดวลเกมยังไม่จบแค่ศึกประธานาธิบดี อนาคตของฝรั่งเศสจะเดินไปในท่วงท่าแบบใด ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 และ 18 มิถุนายน

ฝรั่งเศสมีระบบการแบ่งแยกอำนาจแบบ ‘ไฮบริด’ คือมีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีอาจเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีเป็นของรัฐสภา นอกจากนี้ อำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายเป็นของนายกรัฐมนตรีและสภา ไม่ใช่ประธานาธิบดี ขณะที่ประธานาธิบดีมีอำนาจประกาศยุบสภาและประกาศเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกพลิกประวัติศาสตร์ โดยตัวแทนจากพรรคใหญ่ที่มีอายุยาวนานอกหัก เพราะชื่อไม่ติดโผเลยสักพรรคเดียว และหากย้อนวิเคราะห์คะแนนรอบแรก จะพบว่าผู้ลงคะแนนเสียงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เลือกลงคะแนนให้กับนักการเมืองซ้ายจัดอย่าง ฌอง-ลุค เมลองชอง (Jean-Luc Mélenchon) เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ก็เทคะแนนให้กับ ฟร็องซัว ฟียง (François Fillon) จากพรรครีพับลิกัน แม้เมื่อรวมคะแนนแล้ว เมลองชองและฟิยงจะไม่ชนะ แต่ก็น่าสนใจว่าคะแนนเสียงเหล่านี้จะตกเป็นของใครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาที่จะมีขึ้นกลางเดือนมิถุนายนนี้

มาวันนี้ มาครงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่เขาไม่มีฐานสมาชิกสภาอยู่ในมือเลยสักคน ไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาที่เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ En Marche กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เขาตั้งขึ้น สามารถสร้างทีมและสร้างฐานเสียงในสภา เพื่อให้การผลักดันนโยบายต่างๆ ทำได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบนี้จะไม่มีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าประธานาธิบดีจะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากฝ่ายค้านและทำงานด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นภาวะที่ขยับอะไรได้ยากลำบากยิ่งนัก

Photo: REUTERS/Benoit Tessier

 

อ้างอิง:

ภาพ:

  • REUTERS/Gonzalo Fuentes
Tags: , , , , ,