* คำเตือน: ลิงก์ที่อยู่ในบทความอาจมีภาพ เสียง และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ควรใช้วิจารณญาณในการคลิก

 

I. #Elsagate และอวสานโลกสวยของคอนเทนต์สำหรับเยาวชน

เหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนเว็บไซต์ยูทูบ (Youtube) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ยักษ์ใหญ่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน คงจะหนีไม่พ้น #Elsagate (#เอลซ่าเกท) บนแอปฯ Youtube Kids ซึ่งเป็นแอปฯ จัดสรรคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ

แฮชแทกนี้ได้ชื่อมาจากบอร์ด r/Elsagate ในเว็บไซต์เรดดิท (Reddit) ชุมชนออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกร่วมสนทนาในประเด็นต่างๆ สมาชิกของบอร์ด r/Elsagate มีผู้ติดตามกว่า 26,000 คน หลายคนในบอร์ดนี้ตั้งข้อสังเกตว่า วิดีโอหลายตัวที่มียอดวิวจำนวนมหาศาลทั้งบนเว็บไซต์ยูทูบและแอป Youtube Kids นำตัวละครที่เด็กๆ ชื่นชอบทั่วโลกอย่างเอลซ่ากับอันนา สองพี่น้องจากการ์ตูนเรื่องโฟรเซน (Frozen) ซูเปอร์ฮีโรอย่างสไปเดอร์แมน (Spiderman) และเดอะฮัลค์ (The Hulk) รวมถึง เปปปา เดอะ พิก (Peppa the Pig) การ์ตูนหมูน้อยและผองเพื่อนที่สอนการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กก่อนอนุบาล มาดัดแปลงให้มีเนื้อหารูปภาพค่อนไปทางวิตถาร รุนแรง และลามกอนาจาร ซึ่งไม่เหมาะสมกับการรับชมของเยาวชนที่เป็นกลุ่ม ‘ลูกค้า’ หลักของแอป

ผู้เขียนขอยกเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สมาชิกบอร์ด r/Elsagate ตั้งเป็นกระทู้เอาไว้มาเป็นตัวอย่าง

สมาชิก ItsJordan12370 โพสต์วิดีโอชื่อ ‘Spiderman Watching Under Anna’s Skirt! W/ Frozen Elsa Maleficent Joker Crazy Clown Superheroes IRL’ ในวิดีโอนี้ สไปเดอร์แมนไม่เพียงแต่มุดใต้กระโปรงดูกางเกงในของเอลซ่า แต่ซูเปอร์ฮีโร่วัยใสยังถอดกางเกงของเธอออกมา ในขณะเดียวกัน ก็มีตัวตลกแอบถ่ายเหตุการณ์นี้ด้วยไอโฟนจากอีกมุมของห้อง จากนั้น สไปเดอร์แมนก็ ‘แปลงร่าง’ เป็นเดอะฮัลค์ด้วยการสวมชุดมนุษย์ตัวเขียวทับชุดสไปเดอร์แมนที่สวมอยู่เพื่อปราบนางมารร้ายมาเลฟิเซนต์ เมื่อเข้าตาจน เธอก็โทรเรียกตัวตลกตัวเดิมมาช่วยสู้กับสไปเดอร์แมน การแสดงจำอวดดำเนินไปสิบกว่านาที จบลงด้วยดีเมื่ออันนาสามารถเข้ามาช่วยพี่สาวของตัวเองที่ถูกล่ามโซ่ไว้ได้สำเร็จ

ปัจจุบัน ยูทูบถอดวิดีโอนี้ออกจากเว็บไซต์แล้ว แต่ก็ไม่อาจลบความจริงที่ว่า วิดีโอนี้เคยมียอดวิวกว่าหนึ่งล้านห้าแสนครั้ง ด้วยโปรดักชันง่ายๆ ที่ถ่ายทำในห้องครัว ห้องรับแขก ห้องนอน และโถงทางเป็นพื้นที่ในจินตนาการ ผู้อ่านเองก็ทำวิดีโอประเภทเดียวกันนี้ได้ไม่ยาก เพียงเกณฑ์เพื่อนมาสี่ห้าคน ลงขันซื้อชุดคอสเพลย์ตัวละครในกระแสนิยมจากสำเพ็ง ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือถ่าย แล้วอัปโหลดขึ้นยูทูบที่บ้านของเพื่อนคนไหนก็ได้ที่เน็ตบ้านมีอัปโหลดสปีดสูงที่สุด อย่าลืมใส่ชื่อตัวละครในกระแสทุกตัวลงในชื่อวิดีโอ พร้อมพ่วงกิจกรรมที่กำลังเทรนดิงบนยูทูบ เช่น prank (การหลอกแกลัง) kidnap (การลักพาตัว) inject (การฉีดยา) pissing (การปัสสาวะ) pooping (การอุจจาระ) bury alive (การฝังทั้งเป็น) เข้าไปด้วย โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักไวยากรณ์ให้วุ่นวาย เพียงเท่านี้เราก็จะได้คอนเทนต์ขยะที่ระบบอัลกอริธึม (algorithm) ของยูทูบพิจารณาว่าไม่ได้ละเมิดหลักเกณฑ์ชุมชน (Community Guideline) พร้อมส่งตรงสู่เด็กและเยาวชนในทวีปอเมริกาเหนือ (ปัจจุบัน แอปฯ Youtube Kids เปิดให้บริการแค่ภายในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น)

 

คอนเทนต์ขยะเปรียบเสมือนสัตว์ประหลาดที่ถูกสร้างขึ้นอย่างผิดมโนธรรม จากชิ้นส่วนคอนเทนต์ที่ติดเทรนด์จนยอดวิวพุ่งถล่มทลาย สัตว์ประหลาดตัวนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพียงเพื่อเหตุผลเดียว คือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

ปัจจุบันแท็ก r/Elsagate มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้สังคมอเมริกันตระหนักถึงการแพร่ระบาดของวิดีโอที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ข้อมูลที่สมาชิกของบอร์ดรวบรวมเอาไว้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ข้อมูลช่วงเวลาที่แชนเนลเหล่านี้เริ่มปรากฏบนยูทูบ ประเภท (genre) ช่วงเวลาที่แชนเนลเหล่านี้เริ่มเปิดให้บริการ และบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ เริ่มตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน สมาชิกแท็ก r/Elsagate จะอัปเดตรายการในลิงก์อยู่ตลอด ข้อมูลเหล่านี้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญให้แชนเนลที่มีผู้รับชมเป็นจำนวนมากอย่าง ETC Show และ Philip Defranco ที่ผลิตวิดีโอวิพากษ์บทบาทความล้มเหลวและไร้จรรยาบรรณของยูทูบในการกลั่นกรองเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์ขยะเหล่านี้ดึงดูดจำนวนผู้ชมและสร้างกำไรจากค่าโฆษณาให้กับเว็บไซต์ได้มหาศาล

นอกจากนั้น สื่อกระแสหลักที่น่าเชื่อถืออย่างหนังสือพิมพ์ The New York Times ก็ตีพิมพ์บทความวิพากษ์ที่ยูทูบพึ่งพาอัลกอริธึมในการคัดกรองเนื้อหาโดยปราศจากการควบคุมดูแลของมนุษย์ ส่งผลให้เยาวชนต้องเสพคอนเทนต์ขยะที่แฝงตัวใต้คราบตัวละครที่พวกเขาคุ้นเคย

เว็บไซต์โดนใจวัยรุ่นอย่าง Buzzfeed ก็เขียนบทความประจานยูทูบที่ปล่อยให้เว็บไซต์เป็นแหล่งรวมกลุ่มผู้มีพฤติกรรมฝักใฝ่ทางเพศกับเด็ก (pedophile) ที่เจาะจงรับชมคอนเทนต์ที่มีเด็กร่วมแสดงหรือวิดีโอที่มีภาพการทารุณกรรมเด็ก

แน่นอนว่ายูทูบไม่นิ่งนอนใจต่อกระแสการตื่นตัวของสังคมที่ออกมาต่อต้านคอนเทนต์ขยะเหล่านี้ นิตยสารVariety รายงานว่า ทางยูทูบถอดช่องที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกไปกว่าร้อยช่อง ถอดวิดีโอที่มีเด็กร่วมแสดงและมีกลุ่มผู้มีพฤติกรรมฝักใฝ่ทางเพศกับเด็กเข้าไปร่วมคอมเมนต์ และปิดระบบคอมเมนต์ในวิดีโอกว่าหกแสนห้าหมื่นวิดีโอที่อาจดึงดูดคนกลุ่มนี้ ตบท้ายด้วยการถอดโฆษณาออกจากวิดีโอกว่าสองล้านรายในห้าหมื่นช่อง นอกจากนี้ ยูทูบยังปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการด้วยการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ชุมชนเพื่อป้องกันคอนเทนต์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต

ทางผู้เขียนอยากให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความต่างๆ ที่ยกมาอ้างอิงว่า กูเกิล (Google) บริษัทแม่ของยูทูบ ได้ถอดแอปฯ ของช่องที่ถูกถอดจากยูทูบออกจากเพลย์สโตร์ (Play Store) ด้วย โดยก่อนหน้าที่ยูทูบจะล้างบางคอนเทนต์สุ่มเสี่ยงครั้งใหญ่ ผู้ใช้โทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ของช่อง Superheroes and Princesses Youtube Videos for kids (เน้นวิดีโอซุปเปอร์ฮีโรและเจ้าหญิงดิสนีย์ทำกิจกรรมวิตถาร) หรือ Freak Family (เคยเป็นแชนเนลชื่อ Toy Freaks ที่มีผู้ชมกดติดตามมากที่สุดเพราะผู้ผลิตใช้แรงงานลูกสาวคนเล็กและภรรยาในการถ่ายทำวิดีโอแกะกล่องของเล่นและแสดงพฤติกรรมค่อนไปทางอนาจาร) ซึ่งแอปฯ เหล่านี้จะเล่นวิดีโอในแชนเนลโดยอัตโนมัติ (autoplay) โดยมีโฆษณาคั่นกลาง

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนขอแจ้งข่าวดีว่า ปัจจุบัน แอปฯ บนเพลย์สโตร์ที่คัดกรองวิดีโอสำหรับเด็กจากยูทูบเพื่อขายโฆษณาค่อนข้างจะปลอดภัยแล้ว

มาตรการการปราบปรามอย่างเข้มงวดของยูทูบสร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้เขียนอยู่ไม่น้อย ในแง่ที่ว่า ต่อให้เจ้าของแพลตฟอร์ม อัลกอริธึม ชุมชนออนไลน์ และสื่อสำนักต่างๆ จะตรวจตราอย่างละเอียดเพียงใด คอนเทนต์ขยะเหล่านี้ยังคงว่ายเวียนอยู่ในเว็บไซต์ แต่ถูกผลิตโดยแชนเนลนอกทวีปอเมริกาเหนือ เช่น จากตะวันออกกลางและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในรูปแบบสื่ออื่นๆ เช่น วิดีโอเกมเพื่อการศึกษา

ถึงตรงนี้คงจะปฏิเสธได้ยากว่า #Elsagate เป็นปรากฏการณ์และปัญหาระดับแพลตฟอร์มที่ยูทูบเองก็ดูจะตรวจตราและกำจัดได้ไม่หมด อย่างไรก็ดี โจทย์ที่บอร์ด r/Elsagate ดูจะคิดไม่ตกคือ ‘ใคร’ หรือ ‘องค์กร’ ใดเป็นผู้ผลิตวิดีโอวิตถารเหล่านี้ออกมาและเพื่อจุดประสงค์อะไร

คำอธิบายของสมาชิกหลายท่านจึงมีลักษณะเป็นทฤษฎีสมคบคิด เช่น มีองค์กรลึกลับจากรัสเซียต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้ยอมรับความรุนแรงและกิจกรรมอนาจารต่างๆ มีคนหรือองค์กรสร้างบอต (Bot) ให้ผลิตวิดีโอเหล่านี้ขึ้นมาโดยเอาภาพการ์ตูนกับไฟล์เสียงที่เป็นสมบัติสาธารณะ (public domain) มาตัดต่ออย่างง่ายๆ และกลายเป็นการ์ตูนแอนิเมชันแล้วตั้งชื่อตามแท็ก (tag) ที่กำลังอยู่ในกระแสเพื่อโกงอัลกอริธึมของยูทูบให้วิดีโอของตัวเองติดลำดับต้นๆ ของเพลย์ลิสต์อัตโนมัติบนแอปฯ นี่จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมชื่อของวิดีโอหลายๆ ชื่อ จึงฟังไม่ได้ศัพท์ และดำเนินเรื่องไปอย่างสะเปะสะปะ

 

ต่อให้เจ้าของแพลตฟอร์ม อัลกอริธึม ชุมชนออนไลน์ และสื่อสำนักต่างๆ จะตรวจตราอย่างละเอียดเพียงใด คอนเทนต์ขยะเหล่านี้ยังคงว่ายเวียนอยู่ในเว็บไซต์

สมมติฐานเชิงทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ก็ใช่จะไม่มีความเป็นไปได้อยู่เลย การผลิตคอนเทนต์ขยะเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้ (monetization) จากการโกงอัลกอริธึม นี่เป็นข้อเท็จจริงอย่างไม่ต้องสงสัย พิสูจน์ได้จากโฆษณามากกว่าห้าชิ้นที่แฝงตัวอยู่ในวิดีโอที่มีความยาวสิบนาทีกว่าๆ ปัญหาคือ ทฤษฎีเหล่านี้มองว่า #Elsagate เป็นเหตุการณ์เอกเทศที่มีต้นตอมาจากผู้ใช้ที่มีเจตนาร้าย กอปรกับการตรวจตราที่หละหลวม หากยูทูบสามารถปราบปรามผู้ใช้ที่มีเจตนาร้ายได้หมด ปรากฏการณ์นี้ก็จะหายไปโดยปริยาย

อีกคำอธิบายที่อาจตั้งข้อสังเกตได้คือ ถ้ายูทูบคือส่วนหนึ่งในการผลิตคอนเทนต์ขยะที่มีมูลค่าทางการโฆษณาเหล่านี้ พร้อมๆ กับกุมอำนาจในการตรวจตราเสียเองล่ะ?

ผู้เขียนขอเสนอว่า #Elsagate จะเมกเซนส์ขึ้นมาก หากเรามองปรากฏการณ์ในเชิงพัฒนาการ ในแง่ที่ว่า #Elsagate ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของยูทูบที่ผันตัวเองจากแพลตฟอร์มที่เป็นคลัง (archive) เก็บรวบรวมและแชร์วีดีโอมาเป็นพื้นที่โฆษณา (advertising space) ที่สวมหน้ากากโรงงานผลิตคอนเทนต์อย่างเต็มตัว

 

II.  สัตว์ประหลาดของด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์

ถ้าเป้าหมายของเจ้าของแชนเนลต้องการแค่สร้างรายได้โฆษณาจากรายการสำหรับเด็กแล้ว ทำไมต้องผลิตคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม? เหตุใดจึงต้องใส่ภาพความรุนแรงและพฤติกรรมอนาจาร? คำตอบที่ง่ายที่สุด ก็เพราะคอนเทนต์เหล่านี้อินเทรนด์และมียอดวิวที่สูงบนยูทูบมาโดยตลอด หรือถ้าจะพูดให้เจาะจงลงไปกว่านั้นอีกก็คือ คอนเทนต์ขยะจงใจโหนเทรนด์วิดีโอที่ได้รับความนิยมบนเว็บไซต์เพื่อหวังการแสวงกำไรเพียงอย่างเดียว

นั่นหมายความว่า การจะสืบสาวที่มาที่ไปของวิดีโอที่ตั้งชื่อเสมือนถูกบอต auto-generate ขึ้นมาอย่าง Spiderman, Elsa Kiss Frozen Anna Spiderman Cry Gym Prank Fun ไม่ควรเริ่มจากการถามว่าเจ้าของแชนเนลหรือผู้ผลิตเป็นใครมาจากไหน มีเจตนาที่จะสร้างวิดีโอทารุณกรรมเด็กหรือไม่อย่างไร? แต่ควรถามว่า คอนเทนต์ประเภทไหนในที่เป็นที่นิยมบนยูทูบ หากเราจำแนกชื่อวิดีโอนี้ออกมาเป็นหน่วยย่อยๆ เราจะพบว่า คอนเทนต์จำพวก Superhero / Spiderman / Prank / Gym ล้วนเป็นคอนเทนต์ที่ ‘ขายได้’ และมีผู้ชมอยู่จำนวนหนึ่ง

วิดีโอ SuperHero in Public Prank เป็นวิดีโอแนวคอสเพลย์ซุปเปอร์ฮีโร ที่นักแสดงในวิดีโอคอสเพลย์เป็นโรบิน (Robin) ไล่จับนักแสดงที่เล่นเป็นผู้ร้ายในที่สาธารณะ วิดีโอนี้ผลิตโดยช่อง Trollstation ที่มีผู้กดติดตามจำนวนกว่าหนึ่งล้านคน จะเห็นได้ว่าวิดีโอนี้มีองค์ประกอบของซูเปอร์ฮีโร (Superhero) และการกลั่นแกล้ง (Prank) คล้ายๆ กับวิดีโอใน #Elsagate จะขาดก็แค่มิติความวิตถาร

 

ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ควบคู่กับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นแรงขับสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ผลิตกระหน่ำส่งสินค้าที่ไร้คุณภาพเข้าสู่แพลตฟอร์มที่ทำงานตามกลไกตลาดเสรี

วิดีโอการกลั่นแกล้งนี้จัดได้ว่าเป็นประเภทวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงในยูทูบมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก แถมยังเป็นวิดีโอที่สามารถถ่ายทำได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ถ้าเราเสิร์ชคำว่า prank ในยูทูบ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือรายการ prank นานับประการ  ตั้งแต่แกล้งดึงเก้าอี้ออก แกล้งทำเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ตกเรี่ยราดเพื่อถ่ายทำปฏิกิริยาของผู้พบเห็น แกล้งเทแชมพู แกล้งเป็นลมชักเพื่อหลอกภรรยา และแน่นอน แกล้งหลอกคนแปลกหน้าด้วยการแต่งตัวเป็นตัวตลกจากนรก ยอดวิวของวิดีโอสาย prank ที่ยกตัวอย่างมามียอดผู้ชมเริ่มต้นที่หนึ่งแสนห้าหมื่น ไล่ไปจนกระทั่งสูงถึงสี่สิบห้าล้าน

การที่อัลกอริธึมของยูทูบให้ความสำคัญกับจำนวนยอดวิวเพื่อหารายได้จากการเป็นพื้นที่โฆษณามากกว่ามิติเชิงศีลธรรมและความปลอดภัยของผู้ชม นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมคอนเทนต์ใน #Elsagate ถึงมีรูปแบบคล้ายๆ กัน หรือต้องมีตัวตลกอยู่ในวิดีโอและแสดงพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ ระหว่างการ prank กับการแสดงหนังโป๊สมัครเล่น (amateur pornography) ปรากฏอยู่เสมอๆ จนแทบจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งสามารถแสดงพฤติกรรมฝักใฝ่ทางเพศกับเด็กได้อย่างเปิดเผยในคอมเมนต์ จนกระทั่งคนกลุ่มนี้เองก็กลายเป็นกลุ่มลูกค้าหรือผู้ผลิตคอนเทนต์ขยะเพื่อแย่งชิงยอดวิวเสียเอง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่วิดีโอใน #Elsagate ช่วงหลังๆ จะมีลักษณะเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะวิดีโอเหล่านี้ก็คือหิมะก้อนมหึมาในปรากฏการณ์ลูกหิมะกลิ้ง (snowball effect) ที่ค่อยๆ กวาดสะสมข้อมูลเทรนด์ดิงที่ได้รับความนิยมบนเว็บไซต์ แล้วรวบรวมเป็นคอนเทนต์ขยะก้อนใหญ่มหาศาลที่ทับถมพื้นที่คอนเทนต์สำหรับเยาวชนบนยูทูบไปจนหมด

ดังนั้น เราพูดได้เลยว่า คอนเทนต์ขยะใน #Elsagate เปรียบเสมือนกับสัตว์ประหลาดที่ ดร.แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) สร้างขึ้นในนวนิยายชิ้นเอกของแมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) คอนเทนต์ขยะเปรียบเสมือนสัตว์ประหลาดที่ถูกสร้างขึ้นอย่างผิดมโนธรรม จากชิ้นส่วนคอนเทนต์ที่ติดเทรนด์จนยอดวิวพุ่งถล่มทลาย สัตว์ประหลาดตัวนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพียงเพื่อเหตุผลเดียว คือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดใต้เงื่อนไขที่ยูทูบเปิดแพลตฟอร์มของตัวเองในรูปแบบคลังข้อมูลที่ประกอบกิจการด้วยกลไกของตลาดเสรี ที่ (เคย) ขาดการคัดกรองคอนเทนต์อย่างเข้มงวด

เป็นที่น่าสังเกตว่ายูทูบยังไม่มีท่าทีที่จะออกมาขอโทษผู้บริโภคที่เคยพบปะกับสัตว์ประหลาดตัวนี้ที่แพลตฟอร์มประกาศว่าไม่เหมาะสมกับการรับชมในปัจจุบัน หรือเยียวยาความเสียหายต่อสภาพจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเยาวชนหลังได้รับชมคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมไปแล้ว

 

III. คุณไม่ได้เกลียดยูทูบ (และดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่นๆ) คุณแค่เกลียดทุนนิยม

แล้วปรากฏการณ์ #Elsagate สอนอะไรให้กับเราได้บ้าง? บทเรียนที่น่าจะสำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการคอยตรวจตราคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน แล้วรีพอร์ต (report) ช่องเหล่านั้นกับทางยูทูบเพื่อรอให้ทางเว็บไซต์ดำเนินการต่อไป

ปัญหาคือ การคอยตรวจตราคอนเทนต์ขยะนี้เป็นกิจกรรมที่ไร้ประโยชน์และเปลืองพลังงานที่สุดเท่าที่ผู้บริโภคอย่างเราจะทำได้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถตรวจตราและรีพอร์ตคอนเทนต์ขยะเป็นล้านๆ วิดีโอในเว็บไซต์ ยังไม่นับว่าผู้บริโภคต้องมาตรวจตราคอนเทนต์ขยะให้กับแพลตฟอร์มระดับโลกมูลค่าเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรูปธรรม นอกเสียจากการแลกกับการได้รับชมคอนเทนต์ที่ปลอดภัย ที่ก็ทำให้กลายเป็นงานเอาต์ซอร์ซ (outsource) ที่ผู้ชมทำงานฟรีให้กับบริษัท เพื่อคัดกรองคอนเทนต์ที่เหมาะสำหรับการขายพื้นที่โฆษณาเพื่อสร้างกำไรต่อโดยปริยาย

ผู้เขียนลองคิดเล่นๆ ต่อไปว่า หากทั้งยูทูบพัฒนาอัลกอริธึม และผู้บริโภคคอยตรวจตราอยู่สม่ำเสมอ แต่วิดีโอเหล่านี้ก็ปรากฏขึ้นมาในระบบเล่นอัตโนมัติ (autoplay) อยู่ดี นั่นหมายความว่าชีวิตออนไลน์ของเราส่วนหนึ่งก็ต้องอุทิศให้กับการเป็นตำรวจปราบปรามคอนเทนต์ขยะเหล่านี้ไปโดยตลอด

 

ผู้บริโภคต้องมาตรวจตราคอนเทนต์ขยะให้กับแพลตฟอร์มระดับโลกมูลค่าเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรูปธรรม กลายเป็นงานเอาต์ซอร์ซ (outsource) ที่ผู้ชมทำงานฟรีให้กับบริษัท

ข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคก็คือ ปัญหาคอนเทนต์ขยะที่ชำแหละไปใน #Elsagate เป็นปัญหาที่พ่วงมากับแพลตฟอร์มอย่างยูทูบ รวมถึงแพลตฟอร์มจำหน่ายเกมดิจิทัลอย่างสตีม (Steam) ของบริษัท Valve ซึ่งเว็บไซต์ PC Gamer คาดการณ์ว่าภายในปีนี้ จะมีเกมดิจิทัลเข้าสู่ร้านค้ากว่าห้าพันเกมส์ เป็นจำนวนที่มากกว่าเกมที่เข้าสู่ร้านค้าทั้งหมดจากปี 2006-2014 รวมกัน ประเด็นสำคัญที่ตกไปจากบทความของ PC Gamer คือคอนเทนต์จำนวนมหาศาลนี้เป็นคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นอย่างลวกๆ โดยนักพัฒนามือสมัครเล่นที่นำองค์ประกอบ (asset) ที่หาซื้อ (หรือขโมยมาอย่างผิดกฎหมาย) จากร้านค้าของซอฟต์แวร์พัฒนาเกม Unity มาประกอบเกมขึ้นอย่างลวกๆ ด้วยความหวังว่าจะมีผู้บริโภคซื้อเกมของพวกเขาไปเล่น

จะเห็นไว้ว่า “โมเดลผลิตคอนเทนต์ขยะ” นี้เป็นโมเดลเดียวกันกับปรากฏการณ์ #Elsagate

คอนเทนต์ขยะที่กลาดเกลื่อนได้แปรเปลี่ยนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างยูทูบและสตีมให้กลายเป็นสุสานขยะดิจิทัล ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ควบคู่กับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นแรงขับสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ผลิตกระหน่ำส่งสินค้าที่ไร้คุณภาพเข้าสู่แพลตฟอร์มที่ทำงานตามกลไกตลาดเสรี ด้วยความหวังว่าจะหาประโยชน์จากกระบวนการคัดกรองโดยอัลกอริธึมที่หละหลวม

ผู้เขียนไม่มีทางออกให้กับระบบทุนนิยมที่ควบคุมกลไกการผลิตคอนเทนต์ขยะเหล่านี้ มันเป็นสัจธรรมที่คอนเทนต์ที่มีคุณภาพจำเป็นต้องใช้ต้นทุนเรื่องแรงงานและเวลาในการสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกัน คอนเทนต์ที่ใช้ทรัพยากรมหาศาลต้องถูกบีบให้ผลิตขึ้นใต้เงื่อนไขของอัลกอริธึมของบริษัทที่เราไม่มีทางรู้ว่ามันทำงานอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คือเรามั่นใจได้ว่า กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อมุ่งเพิ่มมูลค่าให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม

Tags: , , , , , , , , , ,