ความเงียบอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ

บางครั้งเพราะไม่รู้ว่าตัวเองก็มีเสียง บางครั้งเพราะแค่ไม่มีใครได้ยิน

หลายๆ ครั้งเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับความจริง ความเจ็บปวด หรือความรู้สึกผิด

East West Street (2016) ผลงานของ ฟิลิปเป แซนด์ส (Philippe Sands) กวาดรางวัลมามากมายตลอดปีนี้ (หนึ่งในนั้นคือ Baillie Gifford Prize รางวัลสำหรับหนังสือ non-fiction ซึ่งเทียบได้กับ Man Booker Prize ในโลก fiction) นอกจากชื่อหนังสือที่ดูคลุมเครือไม่รู้ว่าเกี่ยวกับอะไรแล้ว อีกสิ่งสะดุดตาบนหน้าปกก็คือ คำชื่นชมจากจอห์น เลอ คาร์เร (John le Carré) ซึ่งเราน่าจะได้เห็นบนปกนวนิยายสปายหรือสืบสวนสอบสวน มากกว่าบนปกหนังสือที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน

เมื่อพลิกดูด้านใน เราพบว่า ถึงแม้ชื่อรองของหนังสือจะค่อนข้างน่าหาว (“On the Origins of Genocide and Crimes Against Humanity”) แต่ผู้เขียนเลือกจะแนะนำบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อันเป็นใจกลางของหนังสือเล่มนี้ว่า ‘ตัวละคร’ (รีวิวจาก Guardian บอกว่ามันมีองค์ประกอบแบบ ‘a first-rate thriller’) ในฐานะคนอ่านที่มีความชอบโน้มเอียงไปทางนิยายมากกว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์แห้งๆ ความคลุมเครือระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งของหนังสือเล่มนี้ดึงดูดคนอ่านอย่างเราเป็นพิเศษ

ถึงอย่างนั้น พอได้อ่านเข้าจริงๆ สิ่งที่ทำให้ผู้อ่านอย่างเราหมกมุ่นอยู่กับหนังสือที่อภิปรายเรื่องกฎหมายยากๆ ประกบด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายได้ตั้งแต่ต้นจนจบ กลับไม่ใช่เรื่องราวดรามาของหลายชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันผ่านเหตุการณ์ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่คือความละเอียดลออในการบรรยายพื้นที่ เส้นทางชีวิตของ ‘ตัวละคร’ รวมถึงกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลและข้อสรุปของผู้เขียน ในลักษณะทั้งเป็นส่วนตัว และมีระยะห่างมากพอสำหรับการคิดใคร่ครวญอย่างมีสติ แม้แต่กับเรื่องที่ชวนเสียสติเอาง่ายๆ

แซนด์สเล่าเรื่อง ‘ต้นกำเนิด’ ของนิยามของการกระทำ 2 ชนิด ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรรมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg) การกระทำหนึ่งคือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การกระทำต่อ ‘ปัจเจกบุคคล’ และสองคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ซึ่งเน้นการกระทำต่อ ‘กลุ่ม’

คำว่า ‘ต้นกำเนิด’ ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ที่มาที่ไปหรือหลักการและเหตุผลทางกฎหมาย แต่เป็นชีวประวัติของบุคคล 2 คน ผู้ผลักดันให้ข้อหาทั้งสองชนิดนี้ถือกำเนิดขึ้นในสารบบของกฎหมายระหว่างประเทศ คนแรกคือ เฮร์ช เลาตาร์พัชต์ (Hersch Lauterpacht) นักวิชาการผู้เชื่อว่า การปกป้องปัจเจกบุคคลโดยไม่เกี่ยงว่าต้องสังกัดกลุ่มของใคร เป็นพื้นฐานสำคัญของกฎหมาย คนที่สองคือ ราฟาล เลมคิน (Rafael Lemkin) นักกฎหมายผู้ให้ความสำคัญกับการปกป้องบุคคลในฐานะสมาชิกของกลุ่มอัตลักษณ์

ว่ากันโดยพื้นฐาน สองคนนี้ไม่ได้มีความเชื่อขัดแย้งกัน เพราะในยุคสมัยที่ข้อตกลงระหว่างประเทศเปิดช่องว่างให้ผู้นำของรัฐสามารถจะทำ ‘อะไรก็ได้’ กับประชาชนตัวเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากต่างชาติ เป้าหมายของทั้งเลาตาร์พัชต์ และเลมคิน ก็คือการใช้หนทางทางกฎหมายไปปกป้องปัจเจกบุคคลที่ไม่สามารถพึ่งพาระบบยุติธรรมของรัฐตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับ ‘วิธีการ’ ในการได้มาซึ่งความยุติธรรม และถึงแม้จะไม่เคยเจอกันตัวเป็นๆ แต่ก็ขับเคี่ยวต่อสู้กันแบบอ้อมๆ ผ่านหน้ากระดาษและเครือข่ายของตัวเองในวงการศาลอยู่เป็นระยะเวลาหลายปี มองเผินๆ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์น่าจะเติมเต็มซึ่งกันและกันมากกว่าจะขัดแย้งกัน อันหนึ่งว่าด้วยตัวบุคคล อีกอันว่าด้วยกลุ่มที่บุคคลนั้นสังกัด

การเน้นไปที่สิทธิของปัจเจกบุคคล ให้ได้รับการปกป้องจากอาชญากรรมที่ก่อขึ้นอย่างเป็นระบบและกินพื้นที่กว้างขวาง อาจมองข้ามความจริงที่ว่า ผู้ถูกกระทำในกรณีแบบนี้ไม่ได้เป็นเหยื่อของการคุกคามตัวบุคคลเท่านั้น แต่พวกเขาตกเป็นเหยื่อเพราะเป็นสมาชิกของ ‘กลุ่ม’ ทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือแม้แต่รสนิยมทางเพศ

ขณะเดียวกัน การให้น้ำหนักแก่การคุกคามกลุ่ม (แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องจริง) เสี่ยงต่อการยิ่งสุมไฟความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกลุ่มอัตลักษณ์ และดีไม่ดี แทนที่จะช่วยป้องกัน อาจนำไปสู่อาชญากรรมแบบเดิมๆ ไม่จบสิ้น

เป้าหมายของทั้งเลาตาร์พัชต์และเลมคิน ก็คือการใช้หนทางทางกฎหมายไปปกป้องปัจเจกบุคคลที่ไม่สามารถพึ่งพาระบบยุติธรรมของรัฐตัวเองได้

ข้อถกเถียงในประเด็นทางกฎหมายดังกล่าว ถูกนำเสนอใน East West Street อย่างค่อยเป็นค่อยไป ร้อยเรียงเข้ากับเส้นทางชีวิตของนักกฎหมายทั้งสองคน ซึ่งนอกจากจะ(บังเอิญ)เป็นชาวยิวที่ลี้ภัยออกมาได้ทัน แต่ต้องสังเวยครอบครัว ให้แก่โฮโลคอสต์ทั้งคู่ ยัง(บังเอิญ)ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งอยู่ในเมืองที่(บังเอิญ)เป็นบ้านเกิดของคุณตาของแซนด์ส ผู้ซึ่งในที่สุด(บังเอิญ)กลายมาเป็นลูกศิษย์ของลูกชายของเฮร์ช เลาตาร์พัชต์ ที่ชื่อ อีไล เลาตาร์พัตช์ (Eli Lauterpacth) เมื่อเขาเข้าเรียนกฎหมายที่เคมบริดจ์ และเป็นเพื่อนร่วมงานกันมากว่า 30 ปี

แต่แซนด์สเพิ่งค้นพบซีรีส์ของความบังเอิญเหล่านี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมื่อเขา(บังเอิญ-อีกแล้ว)ได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยที่เฮร์ช เลาตาร์พัตช์ และ เลมคิน เคยเรียน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองชื่อ ลวีฟ (Lviv – เคยชื่อ Lemberg สมัยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสโตร-ฮังการี, Lwów สมัยเป็นของโปแลนด์, Lvov สมัยเป็นของโซเวียต กลับมาเป็น Lemberg ช่วงโดนเยอรมนียึด ก่อนจะมาเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในปัจจุบัน…เอาซี้)

สาเหตุที่ข้อมูลเหล่านี้ถูก ‘ดีเลย์’ มาร่วมสามทศวรรษ ก็เพราะทั้งตาและยายของแซนด์สไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับอดีตก่อนที่พวกเขาจะอพยพไปอยู่ปารีสเลย จนกระทั่งเมื่อพวกเขาเสียชีวิตไปหลายปี และแซนด์สได้มาค้นหาเอกสารเพื่อใช้ประกอบการบรรยายที่ลวีฟ เหตุการณ์มากมายที่ตกอยู่ใต้ความเงียบจึงได้เผยตัวตนออกมา ผ่านหนังสือราชการ ลายเซ็น และรูปภาพเพียงไม่กี่ใบ ซึ่งแซนด์สใช้เป็นเบาะแสสืบหาเรื่องราว ‘ข้างหลังภาพ’ มาได้จนเกือบครบถ้วน

ทั้งตาและยายของแซนด์สไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับอดีตก่อนที่พวกเขาจะอพยพไปอยู่ปารีสเลย จนกระทั่งเมื่อพวกเขาเสียชีวิตไปหลายปี… เหตุการณ์มากมายที่ตกอยู่ใต้ความเงียบเผยตัวตนออกมา ผ่านหนังสือราชการ ลายเซ็น และรูปภาพเพียงไม่กี่ใบ

รายละเอียดความสูญเสียของชาวยิวหลายครอบครัวที่เข้ามาเกี่ยวพันกันในโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลกคงไม่สามารถสรุปได้ในรีวิวสั้นๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ แง่มุมเร้นลับภายใต้ความเจ็บปวดของผู้เป็นเหยื่อ จากการสูญเสียญาติพี่น้องและที่อยู่อาศัย อันเป็นต้นเหตุของความเงียบจนวังเวงในครอบครัวของผู้เขียน แซนด์สเลือกทำลายความเงียบนี้โดยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ญาติผู้ใหญ่ของเขาไม่กล้าเผชิญ ขณะเดียวกันก็ไม่ ’พิพากษา’ อะไรที่เขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ (อาจพูดได้ว่าเป็นผลมาจากการฝึกฝนในฐานะนักกฎหมาย) ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เรื่องราวและวิธีการที่แซนด์สเลือกใช้ในการนำเสนอเหมือนจะเป็นการเตือนนักอ่านนิยายอย่างเรา ให้ระวังหลุมพรางของการหาข้อสรุปสำเร็จรูปที่อาจไม่มีอยู่ในโลกความจริงอันคลุมเครือใบนี้

บทบาทด้านตรงข้ามของเหยื่อก็คือ ‘ผู้ล่า’ ฮันส์ ฟรังค์ (Hans Frank) คือ อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมายของฮิตเลอร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ปกครองโปแลนด์ในยุครุ่งเรืองของนาซีเยอรมัน และถูกตัดสินประหารชีวิตที่นูเรมเบิร์ก ในฐานะผู้รับผิดชอบการสังหารผู้คนหลายแสนในเขตการปกครองของตัวเอง ในขณะนั้น นิกลาส (Niklas) ลูกชายคนเล็กของเขามีอายุได้เพียง 7 ปี

ในปัจจุบัน นิกลาส ฟรังค์ เลือกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเงียบ เขาเขียนหนังสือชื่อ Der Vater: Eine Abrechnung เปิดโปงความชั่วร้ายและน่าสมเพชของพ่อตัวเอง โดยอ้างอิงข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (ซึ่งรวมถึงไดอารี่ของฮันส์ ฟรังค์) ซึ่งเขาเพิ่งจะค้นพบตอนโต เราไม่รู้ว่าเขาจดจำพ่อของตัวเองอย่างไรเมื่อครั้งยังเด็ก แต่เห็นได้ชัดว่าเขาได้ทำการ ‘จำใหม่’ เมื่อรับรู้ข้อมูลอีกชุดซึ่งครอบครัวของเขาไม่เคยยอมรับ

สิ่งที่เขาทำแตกต่างจาก ฮอร์สต์ ฟอน เว็คชเตอร์ (Horst von Wächter) ลูกชายของ ออตโท เว็คชเตอร์ (Otto Wächter) สมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าทั้งสองจะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกัน ออตโท เว็คชเตอร์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการคราคูฟ (Krakow) และกาลิเซีย (Galicia – เขตหนึ่งในยุโรปตะวันออก ไม่ใช่แคว้นชื่อเดียวกันที่อยู่ในสเปน) เว็คชเตอร์ผู้ลูกเลือกเส้นทางจัดการกับอดีตของครอบครัวในทิศตรงกันข้ามกับนิกลาส เช่นเดียวกับลูกหลานของอดีตแกนนำในพรรคนาซีส่วนใหญ่ เขายังยกย่องเชิดชูพ่อของตัวเองอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่หลังจากที่แซนด์สเปิดหลักฐานที่ระบุว่าพ่อของเขามีส่วนรู้เห็นในการสังหารหมู่อย่างชัดเจนให้ดู

ราวกับว่า เสียงของแซนด์สกับนิกลาส และประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์อีกพะเรอเกวียน เป็นเพียงเสียงเงียบสำหรับเขา

ในบทเกริ่นนำ เราอึ้งเมื่อนิกลาสพูดถึงห้องพิจารณาคดีที่พ่อของเขาถูกตัดสินประหารชีวิตว่า “นี่คือห้องแห่งความสุข สำหรับผม และสำหรับโลก”

พอถึงบทสรุป เราอึ้งอีกทีเมื่อแซนด์สเอ่ยถามเว็คชเตอร์ซึ่งพออกพอใจเมื่อมีคนกล่าวชื่นชมพ่อของเขา ระหว่างการไปถ่ายทำสารคดีด้วยกันที่ลวีฟ “ผมถามว่า เขารู้สึกไม่ดีไหมที่หลายคนในนั้นใส่เครื่องแบบ SS ติดสวัสติกะ เขาตอบว่า ‘ทำไมเหรอ ผมควรรู้สึกเหรอ?’”

East West Street เป็นหนังสือ ‘ส่วนตัว’ ที่บอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งส่งอิทธิพลกว้างไกลทั้งในแง่พื้นที่และเวลา เป็นกรณีศึกษาทางด้านกฎหมายสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจแค่เรื่องความยุติธรรม แต่ยังสนใจวิธีการนำมาซึ่งความยุติธรรม และเป็นบทสำรวจ ‘ความเงียบ’ อันอื้ออึงของคนรุ่นก่อนโดยคนรุ่นหลัง ซึ่งเลือกจะเผชิญหน้ากับ ‘ความจริง’ ที่ถึงแม้จะกระท่อนกระแท่นและไม่น่าอภิรมย์ แต่ก็เป็นส่วนสำคัญของการเติบโต ไม่ใช่แค่ในฐานะปัจเจกแต่ในฐานะสมาชิกของกลุ่มที่เรียกว่าสังคมโลก

Fact Box

East West Street (2016) เขียนโดย ฟิลิปเป แซนด์ส (Philippe Sands) นักกฎหมายและนักวิชาการชาวบริติช เกิดในครอบครัวคนยิว ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ประจำ University College London

Tags: , , , , , ,