ถึงแม้จะวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ในย่านเมืองเก่ามาหลายปี แต่เอาเข้าจริง ผมก็แทบจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเรือนถิ่นฐานที่อยู่รายล้อม

ช่วงเวลาหลายปีริมถนนพิชัย อาแปะร้านขายอาหารตามสั่งเคยบอกว่าเขาอยู่ที่นั่นมานานปี ตั้งแต่เมื่อครั้งยังหนุ่ม และบริเวณนั้นยังไม่มีตึกคอนกรีตให้เห็นสักหลัง

ผมนั่งฟังอาแปะแล้วก็จินตนาการตาม จากพื้นคอนกรีตแข็งกระด้าง ผมพยายามนึกถึงพื้นดิน ท้องนา แสงแดด และสายลมของเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนที่บ้านเมืองและผู้คนจะขยายใหญ่จนแทบจะไม่มีที่ว่างให้กับพื้นดิน

ผมเคยคิดว่าอยากชวนอาแปะคุยถึงเรื่องราวเก่าๆ เมื่อตอนอาแปะยังหนุ่ม อยากให้อาแปะบอกเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของพื้นที่แถบนั้น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำ กระทั่งอาแปะจากลาโลกนี้ไป และผมก็ระเหเร่ร่อนไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้นอีก

ผู้เฒ่าหนึ่งคนจากไปพร้อมกับวันคืนเก่าๆ ในความทรงจำ

เช้าวันที่ 25 สิงหาคม ขณะยืนฟังอาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย บอกเล่าประวัติของวัดคอนเซ็ปชัญ ผมนึกถึงอาแปะที่ริมถนนพิชัย และนึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่จากลาโลกนี้ไปพร้อมกับอาแปะ

เช้าวันนั้น ผมได้เข้าร่วมโครงการทัศนศึกษา ‘รู้เรื่องไทย เข้าใจประวัติศาสตร์ ตอน คริสตศาสนสถานริมฝั่งเจ้าพระยา’ ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในวันนั้น ผมได้ล่องเรือแวะชมศาสนสถานของศาสนาคริสต์ในกรุงเทพฯ 5 แห่งที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีอาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ที่ปรึกษาสมเด็จพระสันตะปาปาด้านสื่อสารสังคม เป็นวิทยากรนำชมและให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของคริสตศาสนสถานทั้ง 5 แห่ง ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ในหลากหลายแง่มุม

ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักคริสตศาสนสถานทั้ง 5 แห่ง หรือหากมีโอกาสได้แวะเวียนผ่านไปก็คงทำได้เพียงเฝ้ามองรูปทรงของอาคารสิ่งก่อสร้าง โดยไม่ได้รับรู้ที่มาที่ไปและเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลัง

คริสตศาสนสถานทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดคอนเซ็ปชัญ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ วัดซางตาครู้ส วัดพระแม่ลูกประคำ และอาสนวิหารอัสสัมชัญ

วัดคอนเซ็ปชัญ

จากท่าเรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เวลาไม่นาน ผมก็มาถึงท่าเรือวัดราชาธิวาส จากนั้นก็เดินลัดเลาะไปตามทางริมแม่น้ำ ข้ามคลองบ้านญวน เข้าสู่ชุมชนคอนเซ็ปชัญ เดินต่อไปอีกไม่ไกล วัดคอนเซ็ปชัญก็ปรากฏต่อสายตา

หนังสือที่ระลึกงานฉลองวัดคอนเซ็ปชัญครบ 250 ปี เมื่อปี 2481 ระบุไว้ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก นอกจากค้าขาย บางคนก็รับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ในครั้งนั้นมีศึกสงครามบ่อย ชาวโปรตุเกสที่รับราชการฝ่ายทหารได้ทำการรบหลายครั้งหลายคราว สมเด็จพระนารายน์จึงพระราชทานให้ชาวโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกราว 60-70 ครอบครัวตั้งวัดบำเพ็ญลัทธิกรรมเมื่อราวปี 2217

วัดคอนเซ็ปชัญหลังเก่า (วัดพระแม่ปฏิสนธินิรมลหรือวัดน้อย) สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แทนวัดหลังแรกที่สร้างด้วยไม้ไผ่ บุคคลสำคัญที่ได้รับพระราชทานที่ดินสร้างวัดคือพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน แต่หลังจากการสร้างวัดเมื่อปี 2217 ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงวัดนี้ในที่ใด จนกระทั่งปี 2325 จึงปรากฏเป็นหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ซึ่งระบุว่าในปีนั้นเกิดการจลาจลขึ้นในเมืองเขมร ในเวลานั้น พระยายมราช (แบน) ได้ตั้งตัวเป็นที่ฟ้าทละหะปกครองกัมพูชา ขณะเดียวกันก็มีขุนนางเขมรบางนายคบคิดกับพวกแขกจามเมืองตะโบงคะมุม ยกกองทัพเรือจะไปกำจัดพระยายมราช (แบน) พระยายมราชเห็นว่าคงจะต่อต้านไม่ไหว จึงชักชวนชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์ และอัญเชิญนักองเมน นักองอี นักองเภา ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ราชา กษัตริย์เขมร และนักองเอง ราชบุตรของสมเด็จพระนารายณ์ราชา ให้หลบเข้ามาในสยาม ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งก็ทรงดูแลเจ้านายของเขมรเยี่ยงพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ ส่วนชาวเขมรที่เข้ามาด้วยราว 400-500 คน ก็ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ ด้วยทรงเห็นว่าที่หมู่บ้านนี้มีชาวโปรตุเกสซึ่งนับถือศาสนาคริสต์อาศัยอยู่ก่อนแล้ว และชาวเขมรเหล่านั้นก็นับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกัน จึงเห็นควรให้อยู่ด้วยกัน

ในเวลาต่อมา ชาวเขมรจำนวนหนึ่งก็เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหลักฐานระบุว่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์จะให้จัดซื้อปืนใหญ่จากต่างประเทศมาใช้ในราชการให้เพียงพอ จึงทรงให้ชาวโปรตุเกสในหมู่บ้านวัดคอนเซ็ปชัญจัดการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากปืนใหญ่ที่ซื้อมาใหม่นั้นต่างจากปืนใหญ่ที่มีอยู่ จึงหาผู้สันทัดการยิงปืนใหญ่ชนิดนี้ให้แม่นยำได้ยาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงให้มีการทดลองยิงที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้โอ่งขนาดใหญ่ลอยเป็นเป้า แต่ก็ไม่มีใครยิงถูก

ต่อมามีชาวเขมรผู้หนึ่งชื่อ ‘แก้ว’ ซึ่งเคยได้รับการฝึกสอนการยิงปืนใหญ่ชนิดนี้จากชาวโปรตุเกส ได้ทำการยิงถวายให้ทอดพระเนตร เพียงการยิงครั้งแรก โอ่งที่เป็นเป้าก็แตกกระจาย แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ยังทรงแคลงพระราชหฤทัยว่านายแก้วยิงถูกเป้าโดยบังเอิญหรือโดยแม่นยำกันแน่ จึงให้นายแก้วยิงอีกครั้ง ซึ่งนายแก้วก็ยิงถูกโอ่งเป็นครั้งที่สอง เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทรงตั้งกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ และให้นายแก้วเป็นพระยาวิเศษสงครามรามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ และเป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 3 สยามทำการรบกับญวนหลายครั้ง ซึ่งพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ก็เป็นผู้หนึ่งที่ไปราชการสงคราม ในพระราชพงศาวดารระบุว่ามีญวนคลององเจืองและญวนเมืองโจดก ซึ่งนับถือศาสนาเดียวกันกับพระยาวิเศษสงครามรามภักดี ขอสวามิภักดิ์เข้ามาอยู่ในสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่กับชาวเขมร ในเวลาต่อมา เมื่อผู้คนในบ้านเขมรเพิ่มจำนวนขึ้น จึงพระราชทานขยายเขตบ้านเขมรออกไป เขตบ้านจึงขยายกว้างออก คือทิศเหนือจดวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) ทิศใต้จดวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดกับถนนสามเสน และทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนชวนญวนก็ขยับขยายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านเหนือ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์

ในช่วงปี 2371-2386 บาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (Jean-Baptiste Pallegoix) หรือพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้มาเป็นเจ้าอธิการวัดคอนเซ็ปชัญ และเมื่อมีผู้คนมาสวดมนต์ภาวนาที่วัดมากขึ้น ท่านจึงสร้างวัดขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือวัดคอนเซ็ปชัญในปัจจุบัน โดยเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมฮอลันดา หรือที่เรียกว่า ‘วิลันดา’ อันเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะสำคัญคือใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก มีเสาไม้รับโครงของหลังคาแบบไทย และตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการเพิ่มเติมส่วนของหอระฆัง โดยมีโจอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวออสเตรีย เป็นผู้ออกแบบ หอระฆังที่สร้างขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีหัวเสาแบบโรมาเนสก์รองรับช่วงชั้นต่างๆ ของอาคาร และการวางเป็นซุ้มโค้งแบบโรมัน ด้วยเหตุนี้เอง วัดคอนเซ็ปชัญจึงประกอบด้วยงานสถาปัตยกรรม 3 รูปแบบ คือไทย ฮอลันดา และโรมัน และถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน

ที่ด้านหน้าของวัดคือรูปปั้นแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด

รูปสลักพระรูปพระแม่เจ้า

วัดคอนเซ็ปชัญมีวัตถุล้ำค่าอยู่ชิ้นหนึ่ง คือรูปสลักพระรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอา รูปสลักนี้มีความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร แกะสลักด้วยฝีมือประณีตบรรจง และลงรักปิดทองอย่างสวยงาม

การได้มาซึ่งรูปสลัก มีเรื่องปรากฏเป็นหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่าชาวเขมรที่อพยพมาอยู่ที่นี่ได้อัญเชิญรูปสลักพระรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอามาด้วย และได้ประดิษฐานรูปสลักไว้ในวัดคอนเซ็ปชัญ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้าน คือชาวโปรตุเกสซึ่งมาอยู่ก่อน และชาวเขมรที่มาอยู่ในภายหลัง

ต่อมาเมื่อเหตุการณ์ในเมืองเขมรสงบลงแล้ว ชาวเขมรกลุ่มหนึ่งจึงจะกลับไปยังภูมิลำเนา และพวกเขาก็อัญเชิญรูปสลักพระแม่เจ้าลงเรือเพื่อนำกลับไปเมืองเขมรด้วย

ในตอนนี้มีเรื่องเล่าว่าขณะที่อัญเชิญรูปสลักพระแม่เจ้า ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือเมื่อแจวเรือที่อัญเชิญรูปสลักพระแม่เจ้าออกไปได้ไม่ไกล เรือก็หยุดนิ่งอยู่กับที่ คนแจวพยายามแจวเท่าไร เรือก็ไม่ยอมเดินหน้า แม้จะเพิ่มคนแจว เรือก็ไม่แล่นต่อไป ชาวเขมรบางคนสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะรูปสลักพระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ จึงแจวเรือกลับมาทางวัดคอนเซ็ปชัญ คราวนี้เรือก็แล่นเป็นปกติ แต่ครั้นเมื่อแจวเรือกลับไปทางเก่า เรือก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน เมื่อทำเช่นนี้อยู่หลายครั้งหลายหน ชาวเขมรที่จะกลับเมืองเขมรก็แน่ใจว่าพระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้รูปสลักนี้ประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ จึงอัญเชิญรูปสลักกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดคอนเซ็ปชัญ แล้วพวกเขาก็เดินทางกลับเมืองเขมร ซึ่งรูปสลักพระรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอาก็ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญตราบจนทุกวันนี้

วันที่ 2 ธันวาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมในพิธีฉลองครบรอบ 300 ปี ณ วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (นาทีที่ 02:17-04:15)
ถ่ายภาพโด ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

ที่มา

http://www.catholic.or.th

https://minimore.com

Tags: , , , , , , , ,