ถ่านหินคือพลังงานฟอสซิล นอกจากองค์ประกอบหลักอย่างคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน ในถ่านหินยังมีกำมะถันและโลหะหนักอย่างปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม โครเมียม ฯลฯ

ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า โดยความร้อนจากการเผาถ่านหินจะต้มน้ำให้ระเหยเป็นไอไปขับเคลื่อนกังหันไอน้ำเพื่อดำเนินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งการทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมีความ ‘สะอาด’ ขึ้นอยู่กับกระบวนการในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเลือกประเภทถ่านหิน การจัดการถ่านหิน ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า และการกักเก็บมลพิษ

 

การเผาถ่านหินจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

โดยตัวมันเอง ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีความสะอาด การเผาถ่านหินเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะทำให้เกิดสารเคมีหลายอย่างที่เป็นพิษทั้งต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเผาถ่านหินยังทำให้เกิดฝุ่นละอองซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจเช่นกัน

ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินจึงต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง ประกอบกับเทคโนโลยีการกักเก็บมลพิษ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากเพียงใด การเผาถ่านหินก็ยังคงมีมลพิษปลดปล่อยออกมา เทคโนโลยีการดักจับมลพิษจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามเมื่อพบกับคำว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ ก็คือสะอาดอย่างไร เพราะการเอาความสกปรกออกจากถ่านหิน ไม่ได้เท่ากับการทำให้ความสกปรกที่เอาออกมาจากถ่านหินนั้นหมดไป และคำถามสำคัญก็คือ เราจะจัดการกับสิ่งสกปรกที่ถูกแยกออกมาจากถ่านหินอย่างไร เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการจัดการกับความสกปรกของถ่านหินขนาดไหน และที่สำคัญคือต้นทุนในการทำให้ถ่านหินสะอาดนั้นเป็นเท่าไร เพราะต้นทุนดังกล่าวย่อมถูกส่งผ่านมาสู่ผู้บริโภคในที่สุด

 

มีเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษจากการเผาถ่านหินหรือไม่

ในปัจจุบันมีการคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสำหรับโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีที่ใช้แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ เพื่อใช้ถ่านหินปริมาณเท่าเดิม แต่ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ ราวสามในสี่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกใช้เทคโนโลยี Subcritical ซึ่งมีประสิทธิภาพ 33-37 เปอร์เซ็นต์ (หมายความว่าพลังงานในถ่านหิน 33-37 เปอร์เซ็นต์ถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า) โดยมีเทคโนโลยีใหม่ เช่น Supercritical, Ultra-supercritical และ Integrated Gasification Combined Cycle ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามลำดับ (42-50 เปอร์เซ็นต์)

กลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีควบคุมมลพิษจากการเผาไหม้ถ่านหิน ได้แก่ การดักจับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ด้วยเครื่องเก็บฝุ่นแบบเส้นใยหรือถุงกรอง และเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต กำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในก๊าซทิ้งด้วยกระบวนการ Flue Gas Desulphurization ลดการปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ด้วยเทคโนโลยีการเผาไหม้ที่มีออกไซด์ของไนโตรเจนต่ำ และเทคโนโลยีลดไนโตรเจนออกไซด์ในก๊าซทิ้ง

 

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ สะอาดอย่างไร เพราะการเอาความสกปรกออกจากถ่านหิน ไม่ได้เท่ากับการทำให้ความสกปรกที่เอาออกมาจากถ่านหินนั้นหมดไป

 

กลุ่มที่ 3 เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบีบอัดคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นของเหลวแล้วพ่นลงชั้นหินใต้ดิน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ราคาแพง และยังไม่แน่ชัดว่าจะกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ดินได้อย่างถาวรหรือไม่

โดยสรุปก็คือ ในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดักจับมลพิษในก๊าซได้ทั้งหมด และยิ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงตามไปด้วย

 

อีไอเอ ‘ผ่าน’ แปลว่าโครงการ ‘ไม่มีปัญหา’ จริงหรือ

รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ‘อีไอเอ’ (Environment Impact Assessment: EIA) เป็นทั้ง ‘กฎหมาย’ และ ‘เครื่องมือ’ ที่ขาดไม่ได้สำหรับการวางแผนโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เราอาจเข้าใจว่า ในเมื่อรายงานอีไอเอเป็นกฎหมายที่ทุกบริษัทต้องทำตาม เมื่อหน่วยงานรัฐด้านสิ่งแวดล้อมอนุมัติให้รายงานอีไอเอ ‘ผ่าน’ ก็น่าจะหมายความว่าโครงการนั้นๆ ไม่มีปัญหา

ทว่าในความเป็นจริง การทำรายการอีไอเอของประเทศไทยยังคงมีปัญหา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอมาคือเมื่อรายงาน ‘ผ่าน’ แล้ว จึงไม่ได้หมายความว่าโครงการจะ ‘ไม่มีปัญหา’

 

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นคือ

เวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำรายงาน มักจะเป็นเวทีเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการ ไม่ใช่เวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจริงๆ

ในหลายกรณี ประชาชนในพื้นที่ไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงาน การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีลักษณะเผชิญหน้า โดยแบ่งเป็นกลุ่ม ‘เห็นด้วย’ และ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับโครงการ ขณะเดียวกันก็เกือบจะเป็นการปฏิเสธข้อมูลทั้งหมดของฝ่ายตรงข้าม มากกว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็น

รายงานอีไอเอมักจะถูกเปิดเผยหลังจากที่โครงการได้รับการอนุมัติ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อร่างรายงาน

หลังจากรายงานอีไอเอผ่านการพิจารณา การตรวจสอบว่าผู้ดำเนินโครงการปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงานหรือไม่ ยังมีปัญหา เนื่องจากหน่วยงานผู้ให้อนุญาตไม่มีความพร้อม ขาดความรู้ และไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบ

 

เวทีการรับฟังความคิดเห็น มักจะเป็นเวทีเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการ ไม่ใช่เวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจริงๆ

 

ปัญหาการขาดแคลนข้อมูลพื้นฐาน เช่น คุณภาพอากาศ เสียงรบกวน หรือพืชและสัตว์ประจำถิ่น ทำให้บริษัทที่ปรึกษามีข้อจำกัดในการจัดทำรายงาน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของรายงาน

ไม่มีการกำหนดอายุของรายงานอีไอเอ หากโครงการผ่านกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานอีไอเอแล้ว รายงานฉบับนั้นจะมีผลบังคับใช้ตลอดไป

การพิจารณารายงานอีไอเอในกรณีโครงการหรือกิจการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อาจขาดความเป็นกลาง เพราะคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคการเมืองย่อมผลักดันโครงการหรือกิจการต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี

 

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ผ่านการเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 หรือ Power Development Plan (PDP) 2015 ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อตอบสนองแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายของรัฐบาล

PDP 2015 กำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 70,335 เมกะวัตต์ในปลายปี 2579 โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าใหม่ 57,459 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 7,390 เมกะวัตต์ หรือในเชิงรูปธรรมคือจะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน/ลิกไนต์เข้าสู่ระบบอีกเจ็ดแห่ง โดยไม่รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงใหม่ที่เข้ามาทดแทนโรงเดิมที่จะปลดระวาง คือโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบเดือนพฤศจิกายน 2561 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 ขนาด 450 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบในปี 2565

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีนโยบายแสวงหาเหมืองถ่านหินสำรองสำหรับโรงไฟฟ้า โดยมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 600 ล้านตันในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งจะป้อนให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ที่ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไปลงทุนในเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างและจ่ายไฟได้ในอีกห้าถึงหกปีต่อจากนี้

นโยบายเหล่านี้มีการประกาศอย่างชัดเจนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งความต่อเนื่องที่เป็นรูปธรรมคือโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อันเป็นที่มาของการคัดค้านต่อต้านอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน

 

 

อ้างอิง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และกานต์ ทัศนภักดิ์ (บรรณาธิการ). ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม 2558-2559. นนทบุรี: มูลนิธิบูรณะนิเวศ. 2560.
สฤณี อาชวานันทกุล ณัฐเมธี สัยเวช และสุณีย์ ม่วงเจริญ. มายาคติพลังงาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และบริษัท ป่าลาละ จำกัด. 2559.

Tags: , , , , , , ,