เสียงที่น่าจะดังพอๆ กับเสียงระเบิดไปป์บอมบ์ซึ่งซุกซ่อนในแจกันภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 24 คน คือเสียงของคำถามที่ว่า

“ทำไมกล้องวงจรปิด (CCTV) จึงมักใช้การไม่ได้เวลาเกิดเหตุสำคัญ”

กี่ครั้งแล้วที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องผิดหวังกับ CCTV ที่หน่วยงานของรัฐจัดซื้อ แล้วพอถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ คำตอบที่ได้รับกลับเป็น

“เสีย-ส่งซ่อมอยู่”

“รองบประมาณ”

“ยังไม่ได้ติดตั้ง”

ไปจนถึงว่าบริเวณนั้นไม่มี CCTV

หรือที่หนักข้อกว่าคือ

บริเวณนั้นมี CCTV ใช้การได้ดีด้วย แต่ให้ดูไม่ได้ เพราะเป็นความลับ!

 

แล้วจะมี CCTV ไปทำไม?

 

ภาครัฐไทยเริ่มจัดซื้อ CCTV มาตั้งแต่ปี 2542 โดยหน่วยงานแรกที่จัดซื้อคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์

หลังจากนั้น หลายหน่วยงานก็เริ่มจัดซื้อ CCTV มาใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งใช้สอนทางไกล ใช้จัดการจราจร ใช้สำรวจทรัพยากร ใช้ดูแลสถานที่ราชการ ฯลฯ กระทั่งเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดซื้อ CCTV ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อ “ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” ก็เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะภายหลังเกิดเหตุวางระเบิดสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ในปี 2544 และเหตุวางระเบิดท่าอากาศยานหาดใหญ่ในปี 2548 ซึ่งนำไปสู่การติดตั้ง CCTV บริเวณสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ไปจนถึงท่าอากาศยานทุกแห่งในประเทศ

กระทั่งเมื่อเกิดเหตุระเบิด 9 จุดในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2549 ที่มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 38 ราย จึงนำไปสู่การจัดซื้อ CCTV ล็อตใหญ่โดยกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลความปลอดภัยในเมืองหลวงของไทย จนทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดซื้อ CCTV มากที่สุดถึงกว่า 8,700 ล้านบาท จากที่มีการจัดซื้อไปแล้วกว่า 29,700 ล้านบาท

 

คำถามคือแล้ว CCTV ช่วย “ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” ได้จริงหรือ และที่ผ่านมาเคยช่วยคลี่คลายคดีอาชญากรรมคดีใดได้แล้วบ้าง

 

คำตอบคือมากมายหลายคดี

นอกจากคดียิบย่อยที่เราเห็นทางรายการโทรทัศน์หรือตามเว็บไซต์ข่าว คดีใหญ่ที่ผู้คนสนใจหลายคดีก็มักจะมีภาพจาก CCTV เป็นเบาะแสจิ๊กซอว์หรือเป็นพระเอกในการคลี่คลายคดี

เช่น คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่าเมื่อปี 2557 ซึ่งภาพจาก CCTV เป็นหนึ่งในเบาะแสสำคัญที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้คาดคะเนเวลาเกิดเหตุ รวมถึงใช้ขีดวงผู้ต้องสงสัย เมื่อประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ ก็นำไปสู่การจับกุมแรงงานชาวเมียนมา 2 คน ส่งฟ้องศาลในท้ายที่สุด

คดีวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมสี่แยกราชประสงค์เมื่อปี 2558 ภาพจาก CCTV แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการปฏิบัติการของชายต้องสงสัย ตั้งแต่ขึ้นรถแท็กซี่มาลงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ วางระเบิด แล้วนั่งรถจักรยานยนต์ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สวนลุมพินี ก่อนเดินทางกลับที่พักย่านหนองจอก นำไปสู่การจับกุมชาวอุยกูร์ 2 คนมาดำเนินคดี

ขณะที่อีกหลายคดี แม้จะยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิด แต่อย่างน้อยภาพจาก CCTV ก็ช่วยให้เห็นรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องสงสัย ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่การออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง เช่น คดีวางระเบิดหรือวางเพลิง 7 จังหวัดภาคใต้ ภายหลังประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559

 

แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีเหตุการณ์ที่ CCTV ‘ใช้การได้’ ก็มีเหตุการณ์ที่ CCTV ‘ใช้การไม่ได้’ เช่นกัน

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ CCTV มักจะใช้การไม่ได้หรือไม่มีให้ใช้เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่อง ‘การเมือง’

เช่น กรณีมีผู้ถอดหมุดคณะราษฎรออกจากลานพระราชวังดุสิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ขอตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดของกรุงเทพมหานคร ผลปรากฏว่าไม่มีภาพให้ดู เพราะกล้องวงจรปิดทั้ง 11 ตัวบริเวณดังกล่าวอยู่ระหว่างนำไปซ่อมพร้อมๆ กัน

หรือเมื่อเกิดเหตุระเบิด 3 ครั้งซ้อน ทั้งหน้ากองสลากฯ เก่า (5 เมษายน) หน้าโรงละครแห่งชาติ (18 พฤษภาคม) ไปจนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (22 พฤษภาคม) หากกล้องวงจรปิดไม่เสียก็คุณภาพต่ำ ใช้การได้ แต่จับภาพได้ไม่ชัดเจน

 

ในต่างประเทศมีการถกเถียงกันว่าการมีกล้องวงจรปิดจำนวนมากในที่สาธารณะจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (privacy) หรือไม่ เพราะคล้ายกับว่าประชาชนกำลังถูกรัฐจับตามองอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับในนวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ แต่เหตุผลที่ฝ่ายตรงข้ามมักหยิบมาแย้งก็คือเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย

เคยมีงานวิจัยของ The British Security Industry Authority (BSIA) ระบุว่าอัตราส่วน CCTV ต่อประชากรอังกฤษทั่วประเทศอยู่ที่กล้อง 1 ตัวต่อประชากร 11 คน ซึ่งจากสถิติพบว่า 95% ของคดีฆาตกรรม มีภาพจาก CCTV เป็นหนึ่งในพยานหลักฐานสำคัญ

ส่วนของไทย แม้จะยังไม่มีข้อมูลจำนวน CCTV ที่ติดตั้งทั่วประเทศ แต่เฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมี CCTV กว่า 47,000 ตัว จากประชากร 5.7 ล้านคน ทำให้อัตราส่วนอยู่ที่กล้อง 1 ตัวต่อประชากร 120 คน ขณะที่สถิติการถูกนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี แม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดรวบรวม แต่จากที่พบเห็นว่า CCTV มักเสียเป็นประจำเมื่อเกิดเหตุสำคัญ ทำให้เชื่อได้ว่าคงทิ้งห่างจากตัวเลข 95% ของอังกฤษแน่ๆ

ตามปกติ ในร่างทีโออาร์หรือข้อกำหนดในการจัดซื้อ CCTV ของหน่วยงานรัฐไทย มักระบุระยะเวลา ‘รับประกัน’ จากคู่สัญญาไว้ระหว่าง 2-5 ปี ทว่าก็เป็นปริศนาอีกเช่นกันว่าเหตุใด CCTV ของไทยจึงเสียบ่อย และบางครั้งถึงขั้นเสียยกล็อตจนไม่มีเหลือให้ใช้งานแม้แต่ตัวเดียว

 

หากเราต้องถูกล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะกันทั้งที อย่างน้อยภาครัฐช่วยรับประกันให้อุ่นใจได้ไหมว่า CCTV ที่จัดซื้อมาโดยอ้างเหตุผลเรื่องการ “ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”

จะใช้งานได้เมื่อถึงเวลา ‘จำเป็น’

Tags: , , ,