ว่ากันว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุค ‘Post truth’ หรือยุคที่ ‘ความจริง’ ไม่ได้มีความหมายหรือความสำคัญเท่ากับ ‘ความเชื่อ’

 

แม้เทคโนโลยีจะเอื้อให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายดาย แต่ก็คล้ายเป็นดาบสองคม อาจเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างไกล หรืออาจทำให้จิตใจเราคับแคบลงก็ได้

ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่มีวาทกรรมเกี่ยวกับ ‘ความจริง’ โผล่ขึ้นมามากมาย หนึ่งในนั้นคือคำว่า ‘Post Truth’ หรือที่แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ยุคหลังความจริง ที่ผู้คนต่างฝักใฝ่ในชุดความเชื่อบางอย่าง มากกว่าการเสาะหาความจริงหรือเปิดรับข้อมูลที่สวนทางกับชุดความเชื่อเดิม

นี่คือเป็นคำที่บ่งบอกภาวะร่วมสมัย จนได้รับเลือกให้เป็นคำแห่งปี 2016 โดย oxford ขณะที่อีกคำซึ่งมีความหมายใกล้คล้ายกันอย่าง ‘surreal’ ก็ได้รับเลือกให้เป็นคำแห่งปีเช่นกัน จากสำนัก Merriam-Webster

 

เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนภาวะดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่กรณี Brexit ที่ชาวอังกฤษลงประชามติว่าต้องการออกจากสหภาพยุโรป ไปจนถึงชัยชนะอันเหนือความคาดหมายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งกรณีที่มีทั้งคนเห็นด้วยและต่อต้าน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนการตัดสินใจครั้งนี้ของทั้งคนอังกฤษและอเมริกา จะส่งผลร้ายมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวขึ้น ก็คือ ‘สื่อ’ ที่แบ่งออกเป็นหลายขั้ว โดยที่แต่ละขั้วก็มีกลุ่มผู้ติดตามเป็นของตัวเอง มีธงในการนำเสนอที่แตกต่างกัน และบางครั้งก็มี ‘ชุดความจริง’ ที่แตกต่างกันด้วย

ความซับซ้อนของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในยุคนี้ โดยเฉพาะในประเทศเสรี ก็คือไม่มีใครที่สามารถทำตัวเป็นผู้กุมอำนาจของข้อมูลได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกต่อไป แต่หากรัฐใดๆ แสดงออกว่าพยายามปิดกั้นหรือควบคุม ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรืออาจเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมางระหว่างกลุ่มคนที่คิดแตกต่างกัน

ภาพการนำเสนอความจริงที่ต่างกันของสื่อที่ว่านั้น เห็นได้ชัดที่สุดจากกรณีของทรัมป์ ซึ่งเลือกที่จะทำสงครามกับสื่อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเขา

คำหนึ่งที่ฮิตขึ้นมาในช่วงเวลาที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ก็คือวาทกรรม ‘Alternative Facts’ ที่เขาใช้ตอบโต้สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเขา ต้นตอของคำนี้มาจากการที่สื่อหลายแห่ง นำเสนอข้อมูลว่าจำนวนประชาชนที่มาเข้าร่วมพิธีสาบานตนของทรัมป์นั้น น้อยกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา แต่ทรัมป์บอกว่านั่นเป็นเพียง Alternative facts หรือ ‘ความจริงทางเลือก’ เท่านั้น

แต่นั่นเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยิ่งวันเวลาผ่านไป เหมือนว่าทรัมป์จะยิ่งมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับสื่อ ช่องทางหลักที่ทรัมป์ใช้สื่อสารความจริงในแบบของเขาก็คือ Twitter คำที่เขาใช้บ่อยๆ เพื่อโจมตีสื่อที่ต่อต้านเขา ก็คือคำว่า ‘Fake News’

ทรัมป์บอกว่าสื่อพวกนี้คือสื่อที่ผลิตข่าวลวง เชื่อถือไม่ได้ และจ้องแต่จะทำลายการบริหารงานของเขา ขณะเดียวกันก็กล่าวชื่นชมสื่อหลายสำนักที่นำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล

ครั้งหนึ่งเขาถึงกับระบุรายชื่อสำนักข่าวที่เป็น Fake News ลงในทวิตเตอร์ และบอกว่านี่ไม่ใช่ศัตรูของเขา แต่เป็นศัตรูของคนอเมริกันทั้งประเทศ

ความน่าสนใจก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่สนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาลทรัมป์ แต่ละสื่อต่างมีฐานผู้ติดตามอยู่เหนียวแน่น และเป็นไปในลักษณะฝั่งใครฝั่งมัน มีการแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบกันผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นช่องทางหลักของการเสพข่าวสารไปแล้ว

 

มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ไว้ว่าการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ของคนสมัยนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้คนเราถูกจำกัดความสนใจโดยไม่รู้ตัว อย่างที่หลายคนคงรู้ว่าเฟซบุ๊ก รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ จะมีระบบที่คอยเก็บข้อมูลการใช้งานรวมถึงความสนใจของเราไว้ตลอดเวลา และนำข้อมูลมานั้นมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสิ่งที่เราน่าจะสนใจ ขณะเดียวกันก็คัดกรองสิ่งที่ไม่อยู่ในความสนใจของเราออกไปด้วย นำไปสู่ปริมณฑลของข้อมูลที่แคบลง เช่นเดียวกับแวดวงของคนที่ปะทะแลกเปลี่ยนกับเรา ที่อาจถูกคัดกรองจนเหลือกลุ่มคนที่มีความคิดไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือในสถานการณ์ที่เรารับข้อมูลจากแหล่งเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อความคิดความเชื่อของเรา แล้วถ้าเราเกิดปักใจเชื่อว่านั่นเป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่เคยเปิดรับข้อมูลด้านอื่นเลย โอกาสที่เราจะมีความรู้ความเข้าใจผิดๆ หรือติดอยู่ในวงความคิดแคบๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้น

 

กรณีของทรัมป์ ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดอีกเช่นกัน เพราะตอนนี้ชาวอเมริกันที่เลือกทรัมป์จำนวนไม่น้อย เริ่มเห็นพิษสงที่แท้จริงของผู้ชายคนนี้ ตั้งแต่การบริหารงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ นโยบายพิลึกพิลั่น และผลประโยชน์ทับซ้อนอันไม่ชอบมาพากล นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สาเหตุที่ทำให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะแบบพลิกโผ ก็เพราะชาวอเมริกัน ‘ถูกทำให้เชื่อ’ ว่าทรัมป์จะนำพาอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้

ในวันที่โลกไม่มีคำตอบสุดท้าย และขับเคลื่อนด้วยความจริงหลายชุด กระบวนการที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการถกเถียง แลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม ว่าความจริงชุดไหน จริงมาก จริงน้อย หรือไม่จริง อย่างไร เพราะมันจะนำไปสู่การหาคำตอบใหม่ๆ การค้นพบใหม่ๆ ซึ่งย่อมดีกว่าการเชื่อโดยไม่สงสัย หรือถูกบังคับให้เชื่อไม่อาจตั้งคำถาม

 

อ้างอิง:

  • www.theguardian.com/media/2017/feb/27/post-truth-era-perilous-for-media-sunday-times-editor-harold-evans
  • www.buzzfeed.com/stevenperlberg/trump-says-cnn-is-fake-news-but-thats-where-he-wants?utm_term=.btYX32Vbv#.qbJJgblz5
  • www.newyorker.com/magazine/2017/02/27/why-facts-dont-change-our-minds
Tags: