ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงการปฏิวัติเปลี่ยนโลกกันแทบทุกวินาที ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่า ‘เทคโนโลยี’ มักอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีมานี้ (หากไม่นับเจตนาดีของ ‘ท่านผู้นำ’ ทั้งหลาย)

The Momentum จึงขออาสาพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ 10 เทคโนโลยีสุดล้ำแห่งปี 2016 ที่ทางสภาเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Forum คาดการณ์ว่าจะพลิกโฉมรูปแบบการผลิต การบริโภค และชีวิตของเราไปตลอดกาล….

   Photo: Amir Cohen, Reuters/profile

1. Nanosensors & Internet of Nano Things – เทคโนโลยีที่เล็กที่สุดในโลกจะอยู่ในตัวเรา

Internet of Things เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ต่อไปนี้เส้นใยในเสื้อผ้า รถยนต์ โดรน บ้าน ไปจนถึงอวัยวะในร่างกายจะมีเซ็นเซอร์จิ๋วที่มีอนุภาคระดับนาโนคอยบันทึกและส่งข้อมูลของเราไปยังสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตามที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ อุปกรณ์รอบตัวเราจะสื่อสารและทำงานกันเอง โดยที่เราไม่ทันได้ออกคำสั่งด้วยซ้ำ (ลองนึกถึงบ้านอัจฉริยะที่ปลดล็อกประตูทันทีที่จับความเคลื่อนไหวของเจ้าของบ้านได้)

เทคโนโลยีนี้ยังมีประโยชน์มากๆ สำหรับการติดตามอาการผู้ป่วย เช่น การฝังนาโนเซ็นเซอร์ในหัวใจเทียม ซึ่งจะส่งสัญญาณเตือนแพทย์ เมื่อเกิดความผิดปกติ

Kim Dae-Hyeong และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ได้พัฒนา Wearable Technology สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันโดยเฉพาะ ความเจ๋งก็คือ อุปกรณ์นี้บางมากๆ เหมือนพลาสเตอร์ปิดแผล แถมยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับและบันทึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ (ทำเอา Fitbit ดูเทอะทะไปเลย!)

ที่น่ากังวลก็คือ เมื่อทุกอย่างเก็บข้อมูลได้ สุดท้ายแล้วเราจะยังรักษาความเป็นส่วนตัวกันได้หรือไม่

โอกาสที่น่าจับตามอง: Fitbit หรือ Health Monitor จะย่อส่วนกลายเป็นวัตถุขนาดเล็กที่ฝังอยู่ในร่างกาย

Photo: Larry Downing, Reuters/profile

2. ​New Generation of Batteries – ทุกบ้านจะใช้แบตเตอรีเก็บพลังงาน

ปัญหาแก้ไม่ตกของพลังงานทางเลือกก็คือ เราไม่สามารถเก็บไว้ใช้ได้ทั้งวันทั้งคืน และแบตเตอรีในตลาดก็ยังขาดประสิทธิภาพ!

บริษัท Fluidic Energy จึงคิดค้นพัฒนาแบตเตอรีสังกะสี-อากาศ (Zinc-air Battery) ขึ้นมา ซึ่งสามารถเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และลมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งความก้าวหน้านี้อาจทำให้กว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลกเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกในปี 2020

โอกาสที่น่าจับตามอง: แหล่งพลังงานของบ้าน ร้านค้า โรงงาน และชุมชน จะมาจากแบตเตอรีที่ใช้เก็บพลังงาน

Photo: Benoit Tessier, Reuters/profile

3. Blockchain – เมื่อธนาคารอยู่บนมือของคุณ

สกุลเงินดิจิทัลหรือบิตคอยน์ (Bitcoin) จะมาแรงแค่ไหนก็ต้องหลบไปก่อน เพราะนาทีนี้ บล็อกเชน (Blockchain) คือเทคโนโลยีที่จะพลิกเกมของวงการ ธุรกรรมการเงินอย่างแท้จริง

อธิบายแบบสั้นๆ บล็อกเชน คือระบบจัดการฐานข้อมูลแบบหนึ่งที่ตั้งอยู่บนบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ช่วยให้การทำธุรกรรมออนไลน์สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินอีกต่อไป เท่ากับว่าต้นทุนและค่าธรรมเนียมต่างๆ จะถูกลงด้วย แถมมีความปลอดภัยสูง เพราะผู้ใช้ต้องบันทึกความเป็นเจ้าของ สินทรัพย์ และยืนยันตัวตนผ่านการเข้ารหัสขั้นสูง ทุกคนสามารถแกะรอยได้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลบัญชี เนื่องจากข้อมูลถูกบันทึกและแชร์กันทั้งระบบ

นอกจากนี้ ยังมีระบบอัลกอริทึมตรวจสอบการแลกเปลี่ยน (transaction) และป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยีนี้ยังรับรองความปลอดภัย การซื้อขายเงินตราดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ และการทำธุรกรรมอื่นๆ เช่น การกู้ยืมเงิน การขายหลักทรัพย์ การโอนเงินข้ามประเทศ และจะมีบทบาทด้านอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน

ดอน แทปสกอตต์ (Don Tapscott) ผู้เขียนหนังสือ Blockchain Revolution: How the Technology Behind Bitcoin Is Changing Money, Business and the World (ร่วมกับลูกชาย) กล่าวว่า “งานนี้วงการไหนไม่พร้อม ก็เตรียมถูก disrupt กันได้เลย”

โอกาสที่น่าจับตามอง: ธนาคารจะหายไป และคนจะซื้อขายของกันโดยไม่ใช้เงินสด

4. 2D Materials – อุปกรณ์ไฮเทคจะเป็นเนื้อเดียวกับผิวหนัง

ภาพสาธิตการพัฒนาจอภาพ OLED ที่มีคุณสมบัติบางและโค้งงอได้ โดยผลิตจากวัสดุแกรฟีน
Photo: meharris, Wikimedia Commons

วงการวิทยาศาสตร์กำลังตื่นเต้นกับการพัฒนาวัสดุ 2 มิติ หนึ่งในนั้นต้องยกให้กับแกรฟีน (Graphene) วัสดุสุดล้ำที่มีความหนาแค่อะตอมเดียวเท่านั้น แต่มีคุณสมบัติแข็งกว่าเหล็กและเพชร มีความยืดหยุ่นสูง นำไฟฟ้าและความร้อนได้ดี และคาดว่าจะใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนซิลิคอนเร็วๆ นี้

หลายคนอาจสงสัยว่าวัสดุ 2 มิติจะทำอะไรได้บ้าง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งในต่างประเทศได้คิดค้นแผ่นเซ็นเซอร์พิมพ์สามมิติจากแกรฟีน และติดบนเสื้อผ้าของผู้สูงอายุ วิธีนี้จะทำให้ผู้ดูแลรู้ว่าสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอย่างไร และคอยดูแลความปลอดภัยได้อีกด้วย

ถ้าวัสดุ 2 มิติออกสู่ตลาดเมื่อไร อุปกรณ์จำพวก Wearable Technology จะไม่เพียงมีน้ำหนักเบามาก แต่ยังบางมากจนแทบเป็นเนื้อเดียวกันกับผิวหนัง และเราอาจได้ใช้คอนแทคเลนส์แทนแว่น Virtual Reality ก็เป็นได้

โอกาสที่น่าจับตามอง: มนุษย์จะมีสภาพใกล้เคียงกับ ‘ไซบอร์ก’ ที่มีอุปกรณ์อัจฉริยะติดตามตัว

Uber เดินหน้าพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ
Photo: Aaron Josefczyk, Reuters/profile

 

5. Autonomous Vehicle – โลกที่ไม่มีใครต้องขับรถ

ต่อไปเราอาจเดินทางอยู่บนถนนที่ไม่มีใครขับรถสักคัน เวลานี้ทั้ง Tesla Motors, BMW, Ford และ Mercedes-Benz รวมทั้งบริษัท Google กับ Apple กำลังแข่งกันพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางจะยิ่งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งกว่าการขับเอง ขณะที่ระบบขนส่งมวลชน รถบรรทุกสินค้า และบริการ Car Sharing ก็จะเริ่มใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเช่นกัน

คาดว่าเราจะเริ่มเห็นรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบออกสู่ตลาดจริงๆ ในปี 2020 หลายๆ บริษัทจะเลิกผลิตรถยนต์ที่ไม่มีระบบอัตโนมัติ และเกิดเมืองไร้คนขับภายในปี 2050

โอกาสที่น่าจับตามอง: เมืองในอนาคตจะไม่มีใครขับรถและไม่มีรถติด

6. Organ-on-Chips – อวัยวะคนจะเหลือแค่ชิป

 Photo: Giphy  

นี่ไม่ใช่การฝังชิปติดตามในร่างกายแบบในหนัง แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำที่เปลี่ยนแผ่นไมโครชิปขนาดเท่าเมโมรีสติ๊กให้เป็นอวัยวะคน!

สถาบันวิจัย Wyss Institute กำลังพัฒนาไมโครชิปที่เลียนแบบการทำงาน ของอวัยวะมนุษย์ เพื่อใช้ทดลองยาและสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นตับ กระดูก หัวใจ ปอด ซึ่งทำงานได้เหมือนอวัยวะจริงๆ เช่น การดูดซึมของเซลล์ การหายใจ การบีบและหดตัวของกล้ามเนื้อ ชิปสุดล้ำนี้ยังใช้ตรวจสอบสารพิษในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะไม่ต้องทดลองกับสัตว์หรือคนกันแล้ว

โอกาสที่น่าจับตามอง: การค้นพบยารักษาโรคและการปลูกถ่ายอวัยวะด้วยชิป

ดูคลิปการบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยนี้

Photo: Steve Marcus, Reuters/profile

7. Perovskite Solar Cells – โซลาร์เซลล์กลายเป็นแหล่งพลังงานของคนทั้งโลก

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าโซลาร์เซลล์กำลังตกเป็นจำเลยคดีปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พอหมดอายุก็กลายเป็น ขยะมีพิษอีก นี่ยังไม่นับเรื่องขนาดแผงที่กินพื้นที่ติดตั้งไปมากโข

ปีที่ผ่านมา นักวิจัยจากสถาบันเอ็มไอทีและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันพัฒนาแผงโซลาร์รุ่นใหม่ที่ผลิตจาก ‘เพอรอฟไกต์’ (Perovskites) ได้สำเร็จ วัสดุ (ชื่อยาวและอ่านยาก) นี้มีคุณสมบัติดูดกลืนแสงได้ดีกว่าซิลิคอน ซึ่งนิยมใช้ผลิตแผงโซลาร์ในปัจจุบัน มีความหนาไม่ถึง 1 ไมโครเมตร น้ำหนักเบา ผลิตเป็นแผ่นฟิล์มได้เลย แถมยังสนนราคาถูกกว่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าการผลิตแบบเก่าพอตัว!

โอกาสที่น่าจับตามอง: ทุกบ้านและบริษัทในภาคธุรกิจจะใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานหลัก

เปปเปอร์-หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่ได้รับการพัฒนาให้อ่านอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้ โดย SoftBank
Photo: Tyrone Siu, Reuters/profile

8. Open AI Ecosystem – AI จะฉลาดขึ้นและแย่งงานมนุษย์

เวลานี้แทบทุกวงการกำลังตื่นตัวกับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เพราะอีกไม่ช้า AI จะเข้าถึงข้อมูลทุกสิ่ง และรับรู้ทุกความเคลื่อนไหวของเราอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ อีเมล ไฟล์งานทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ จำนวนเงินในบัญชีธนาคาร ไปจนถึงอุณหภูมิในห้องนอน รถยนต์ที่เรากำลังโดยสาร และปลายทาง AI จะกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่รู้ใจเรา (มากกว่าเรารู้ใจตัวเอง ขอให้ลืม Siri ไปได้เลย!) และ ‘ฉลาด’ จนสามารถทำงานแทนมนุษย์ เช่น ทำการเกษตร ดูแลผู้สูงอายุ และจัดการดูแลด้านการเงินส่วนบุคคล พร้อมๆ กับบางอาชีพที่จะสูญหายไปในที่สุด

อะไรที่น่าจับตามอง: อาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และคุณอาจตกงาน!

โจเอล (นำแสดงโดยจิม แคร์รี) กับเครื่องลบความทรงจำ จากภาพยนตร์เรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind
Photo: Eternal Sunshine of the Spotless Mind

9. Optogenetics – เมื่อปมในใจแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนความทรงจำ

การควบคุมระบบประสาทออปโตเจเนติกส์ด้วยเทคโนโลยีแสง (Optogenetics) อาจสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ความผิดปกติของสมอง หรือแม้กระทั่งการดัดแปลงความทรงจำ อย่างที่เราเคยเห็นกันในภาพยนตร์เรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind  

สตีฟ รามิเรส (Steve Ramirez) และเซีย หลิว (Xu Liu) นักประสาทวิทยาสถาบันเอ็มไอที อธิบายว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) มีส่วนเชื่อมโยงกับความทรงจำ ทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ พวกเขาได้ทดลองปรับแต่งความทรงจำของหนู โดยฉีดไวรัสที่มีความไวต่อแสงในสมองของหนูและใส่มันไว้ในกล่องที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อให้มันกลัว เมื่อย้ายหนูไปไว้อีกกล่องและฉายแสงกระตุ้นความทรงจำ (คล้ายๆ กับการเปิด/ปิดสวิตช์ไฟ) ปรากฏว่าหนูหยุดชะงัก เพราะจำความรู้สึกกลัวในกล่องใบแรกได้

ปัจจุบัน วงการแพทย์นำโปรเจกต์นี้ไปสานต่อในการรักษาทหารผ่านศึก และผู้ป่วย PTSD (Posttraumatic Stress Disorder) ที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือผ่านเรื่องราวเลวร้ายมาก่อน

เพราะบางความทรงจำก็รุนแรงและบั่นทอนเรายิ่งกว่าโรคร้ายเสียอีก

โอกาสที่น่าจับตามอง: ปมทางจิตใจจะแก้ไขได้ เทคโนโลยีออปโตเจเนติกส์จะเป็นความหวังใหม่ของการช่วยคนที่ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD เช่น ประสบอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือถูกทารุณกรรม
ดูคลิปการบรรยายบนเวที TED ของสตีฟ รามิเรส และเซีย หลิว

Photo: Michael Dalder, Reuters/profile

10. Systems Metabolic Engineering – การปฏิวัติโลกเกิดขึ้นในระดับ ‘จุลินทรีย์’

มนุษย์กำลังวิวัฒนาการตัวเองไปอีกขั้น! เมื่อความก้าวหน้าทางชีวสังเคราะห์ วิศวกรรมเมตาบอลิซึม และเมตาจีโนมิกส์หมุนมาบรรจบกัน เปิดทางให้เราค้นพบยีนใหม่ๆ เร็วขึ้น และหาทางออกแบบยีนในสิ่งมีชีวิตหรือสร้างรหัสพันธุกรรมใหม่ได้เอง ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตยารักษาโรคและกำจัดเซลล์ร้ายหรือมะเร็งในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลชีพสังเคราะห์ เพื่อพัฒนาในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพให้เป็นพลังงานสะอาด เพื่อใช้แทนน้ำมันที่กำลังจะหมดไปจากโลก

โอกาสที่น่าจับตามอง: เทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมเมตาบอลิซึมจะลดสารพิษในระบบอุตสาหกรรม พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพจะมาแทนน้ำมัน

อ้างอิง:
– www.fluidicenergy.com
– การบรรยาย ‘A mouse. A laser beam. A Manipulated Memory’ โดย Steve Ramirez and Xu Liu
– บทความ ‘Top 10 Emerging Technologies of 2016’ โดย World Economic Forum
– บทความ ‘เซลล์สุริยะพิมพ์ได้’ โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์
– บทความ ‘ระบบประสาทออพโตเจเนติค’ โดย สวทช.