ด้วยความรัก ความหลงใหลในการสร้างสรรค์งานศิลปะด้านงานวาดภาพ ที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์เฉพาะตัว เปรียบเสมือนลายเซ็นของตัวเองขึ้นมา นับเป็นผลงานที่บรรดาศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ใช้สื่อความหมายและมุมมองผ่านงานศิลปะตามสไตล์ของแต่ละคน เหมือนกับนักวาดภาพประกอบดาวรุ่ง 4 คนนี้ ที่มีแนวทางของตนเองในการออกแบบคาแรกเตอร์ที่เฉพาะตัว และผลิตผลงานออกมาได้โดนใจใครต่อใครหลายคน

คุณอยากรู้ไหมว่า พวกเขาและเธอสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนเหล่านี้ได้อย่างไร?

THITIPOOM PHETSANGKHAT

ฐิติภูมิ เพ็ชรสังข์ฆาต กราฟิกดีไซเนอร์จาก Ductstore มีความคิดที่จะสร้าง MillionsMonster By AnOfficerDies ขึ้นมา มีคาแรกเตอร์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองพบเจอในแต่ละวัน และขยายออกไปสู่งานสตรีทอาร์ต จนบัดนี้ผลงานของเขาพิสูจน์ให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับและคำชื่นชมในตัวผลงาน อีกทั้ง MillionsMonster ยังช่วยเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ถูกมองผ่านให้กลายเป็นสถานที่ที่มีแต่ความสวยงาม

“ผมเริ่มวาดตัว MillionsMonster ครั้งแรกตอนกำลังนั่งอยู่หน้าบ้าน แล้วเจอรอยสีกะเทาะบนประตูบ้าน ดูแล้วนึกถึงใบหน้าของสัตว์ประหลาด จึงหยิบปากกามาเขียนดวงตาและปากลงไปบนประตู จากนั้นก็รู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราจะเอาไปต่อยอดเป็นงาน ก็เริ่มออกไปตามถนน มองหาผนังที่มีร่องรอยที่เราสามารถต่อเติมเป็นตัวสัตว์ประหลาดได้”

ฐิติภูมิเล่าถึงคาแรกเตอร์ของ MillionsMonster ว่าทั้งหมดเกิดจากการสร้างผลงานตามความรู้สึกของตัวเอง ชอบมอนสเตอร์ที่เป็นตัวสี่ตา และแฝงไปด้วยความกวนๆ จากลักษณะท่าทาง โดยตั้งชื่อให้ว่า Mr.Martin

“ระหว่างที่กำลังมองหาคาแรกเตอร์ของ MillionsMonster นั้น ก็พบว่าตัวเองชอบมอนสเตอร์สี่ตา มีรอยยิ้มกวนๆ มีขนฟูๆ ตัวสีน้ำเงิน ผมตั้งชื่อว่า Mr. Martin มันสร้างขึ้นมาจากความรู้สึกของเรา ก็มีความเห็นต่างๆ เข้ามาทั้งที่ชื่นชม และบอกว่างานเราไปคล้ายของคนนี้ ไปเหมือนกับตัวมอนสเตอร์ตัวโน้น แต่ผมก็เลือกที่จะทำงานต่อ ถ้าเขาบอกว่าสี่ตาของ MillionsMonster มันไปเหมือนงานคนอื่น เราก็เอามาปรับใหม่ให้แตกต่าง รูปร่างก็ทำให้มีรูปทรงที่ชัดเจนขึ้น

“จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมทำมาได้สองปีแล้ว และทุกวันนี้ผมก็มีโอกาสได้พาเจ้า MillionsMonster ไปร่วมทำงานกับศิลปินคนอื่นๆ เริ่มมีคนรู้จัก และจดจำผลงานได้

“ถ้าวันหนึ่งผมกลายเป็น Mr. Martin ขึ้นมา สิ่งแรกที่จะทำคือ ถ่ายรูปตัวเองลงอินสตาแกรม (หัวเราะ) เพราะเป็นสิ่งที่ผมต้องทำทุกวัน ผมจะวาดตัว MillionsMonster แล้วโพสต์ลงอินสตาแกรมทุกวัน จากนั้นค่อยออกไปเดินข้างนอก ที่บอกว่าจะโพสต์รูปตัวเองเพราะมีคนเคยบอกกับผมว่า ถ้าเราอยากให้ผลงานเป็นที่จดจำ เราต้องขยันทำงานออกมาให้มากกว่าหนึ่งหมื่นชั่วโมง ซึ่งตอนแรกผมไม่เข้าใจคำนี้หรอก แต่ทุกวันนี้ผมรู้แล้วว่าหมายความว่าอย่างไร”

Instagram: anofficerdies

SUPASARA HONGLADAROMP

ศุภศรา หงศ์ลดารมภ์ เจ้าของนามปากกา PRIMIITA หญิงสาวผู้ยอมให้นางเงือกในจินตนาการเข้ามามีบทบาทในชีวิต ผ่านแนวคิด “เพราะความพลิ้วไหวของรูปทรงองค์เอว เส้นผมโค้งไปตามกระแสน้ำ ท่าทางอันแสนอิสระ ผสานไปกับความเป็นธรรมชาติที่ลื่นไหลของสีน้ำ ทำให้เรารู้สึกว่า ทุกครั้งที่เริ่มต้นวาดนางเงือก เรากล้าเป็นตัวของตัวเอง และมีอิสระ”

เธอเล่าถึงสไตล์การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการวาดภาพของตนเองว่าใช้เพียงสีน้ำและปากกาหมึกดำตัดเส้น ซึ่งสองอย่างนี้ทำให้เธอทำผลงานศิลปะของตัวเองออกมาอย่างลงตัว

“ในการวาดรูป เราใช้อยู่สองอย่างคือ สีน้ำ และปากกาหมึกดำตัดเส้น สาเหตุที่ใช้สีน้ำก็เพื่อสื่อความหมายถึงความสบายใจเมื่อได้วาดรูป ประกอบกับเอกลักษณ์เฉพาะของสีน้ำที่จะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อลงสี ทั้งตอนเสร็จใหม่ๆ และเมื่อถึงเวลาที่มันแห้ง สีที่ได้ก็จะแตกต่างกัน

“จนกระทั่งได้ลองใช้ปากกาหมึกดำมาตัดเส้น แวบแรกคือมันใช่ ยิ่งตัดเส้นตามอารมณ์ของตัวเองแล้วจะได้เส้นตัดขอบที่เป็นธรรมชาติ ให้ความหนาบางไม่เท่ากัน เมื่อเกิดความไม่เป๊ะ จึงเกิดเสน่ห์”

ด้านคาแรกเตอร์ของนางเงือก เธอยอมรับว่าช่วงแรกของการวาดภาพเป็นการวาดตามเทรนด์ และมีคนอื่นชี้นำ และไม่ได้เกิดจากความคิดเป็นหลัก แต่แล้วความไม่มั่นใจดังกล่าวก็หายไป นั่นเป็นเพราะนางเงือกในนิทานปรัมปราของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้แนวคิดของเราเปลี่ยนไป

“นางเงือกบอกกับเราว่า ตัวเรามีความสามารถ มีความงดงามอันเป็นข้อดีในตัวเอง หากยอมที่จะแลกตัวตนให้กับคนอื่น เพียงเพื่อหวังว่าคนอื่นนั้นจะชอบหรือสนใจเรามากขึ้น เมื่อนั้นเราก็จะสูญเสียตัวเองที่มีความสุขไปเช่นกัน เราจึงกลับมาวาดนางเงือกอีกครั้ง สนใจเสียงจากความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น มีคนชื่นชอบนางเงือกของเรา ทำให้ได้งานออกแบบจากนางเงือกตามมา ล่าสุดเราวาดเซตนางเงือกโทนสีน้ำเงินม่วงที่กำลังจะกลายเป็นแอนิเมชัน จะออกอากาศทางฟรีทีวีเร็วๆ นี้

“หากตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเราเป็นนางเงือก สิ่งแรกที่จะทำคือสะบัดหางแล้วลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่  พร้อมบอกกับตัวเองชัดๆ ว่า นี่แหละฉัน! และฉันจะไม่สงสัยในความสามารถของตัวเองอีกต่อไป”

Instagram: primiita

SEATAPRON KORWANICHAKUL

ถ้าคุณรู้จักตัวการ์ตูน ‘John and Lulu’ สติกเกอร์ไลน์ยอดนิยมที่มีต่อเนื่องมาถึง 3 ซีซัน ที่เอกลักษณ์ของคาแรกเตอร์เป็นเด็กไร้เดียงสา ผลงานดังกล่าวเกิดจากการสร้างสรรค์ของ เบล-เศรษฐพร ก่อวาณิชกุล หนุ่มน้อยหน้าใสใจดีที่เคยวาดรูป ‘พ่อ’ แจกทุกคนมาแล้ว

แต่ใครจะทราบว่าจนถึงทุกวันนี้ จอห์นและครอบครัวได้นำพาชีวิตนักวาดภาพประกอบหนุ่มไปไกลกว่าที่เขาคาดคิดไว้เสียอีก

“คาแรกเตอร์จอห์นและครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือทีแรกก็วาดตัวเองนี่ล่ะ ซึ่งตอนนั้นเราทำผมสีทอง ก็เลยเรียกตัวการ์ตูนนี้ว่า จอห์น แต่กว่าจะกลายเป็นจอห์นในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ปรับมาเยอะ จนผ่านไปสักพักเราก็เริ่มวาดตัวละครอื่นๆ หยิบจับมาจากคนใกล้ชิดที่อยู่รอบตัวเรา อย่าง ‘ลูลู่’ น้องสาวของจอห์น ก็มาจากน้องสาวของผมเอง หรือเพื่อนหัวฟูๆ ที่ไปไหนกับจอห์นทุกที่ ชื่อว่า ‘ฟูฟูแลนด์’ ก็มาจากเพื่อนสนิทของผม สาเหตุหนึ่งที่เลือกวาดจากคนใกล้ตัว ก็เป็นเพราะเราจะได้นึกถึงท่าทางและวาดออกมาได้ง่ายๆ”

เบลบอกว่าคนที่มองงานศิลปะของเขามักจะมองว่ามีความไร้เดียงสาเป็นหลัก และเชื่อว่าการที่มีผู้ใหญ่มาชอบในตัวการ์ตูนของเขาเป็นเพราะทุกคนยังคงมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว

“ทีแรกผมก็นึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงชอบกันเยอะ ต่อมาจึงเข้าใจว่า อ๋อ นั่นเป็นเพราะในตัวผู้ใหญ่ก็มีความเป็นเด็กอยู่ในตัวนั่นแหละ และเขาก็คงเป็นคนที่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ก็เลยชอบตัวการ์ตูนของเรา”

“ถ้าต้องกลายเป็นตัวละครที่ตัวเองวาด ผมก็อยากจะเป็นจอห์น อยากจะให้มีเนื้อเรื่องประมาณว่าจอห์นเป็นเหมือนแกนนำความสุข ความมีชีวิตชีวา และแสงสว่างที่คอยส่องไปถึงผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ เพราะผมคิดว่าตัวละครตัวนี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เป็นเหมือนตัวแทนที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวการ์ตูนเด็กน้อยวัยห้าขวบ”

Instagram:  whitepaperand

KANITHARIN THAILAMTHONG

ภาพหญิงสาวผมสั้น ใบหน้าเรียบเฉย ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับเรื่องราวใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปที่เธอบอกว่ากำลังมีความสุข คือเสน่ห์ที่มาจากภาพวาดของ กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง นักวาดภาพประกอบและแอนิเมเตอร์ ผ่านคาแรกเตอร์ตัวโปรดสีหน้านิ่งเฉยที่ใช้ชื่อว่า khunkanith

เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการวาดภาพว่ามาจากการชื่นชอบรูปพอร์เทรต และเมื่อโตขึ้นก็เริ่มสนใจและสังเกตเรื่องราวของผู้คน จึงนำเอาสิ่งที่ได้พบเจอมาถ่ายทอดลงไปในผลงานที่มีลักษณะเสียดสีเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เธอหาแนวทางให้ตัวเอง เริ่มจากดูงานของคนอื่นๆ ก่อนจะพัฒนาฝีมือตัวเองในแนวทางนี้ต่อมาเรื่อยๆ

“khunkanith เป็นผู้หญิงผมสั้นๆ เป็นเหมือนตัวแทนของเรา เวลาวาดรูปบางครั้งมักติดสไตล์หรือรูปแบบมาจากภาพที่เราชอบ ซึ่งมันฝังอยู่ในหัว และสลัดสไตล์นั้นออกไปได้ยาก แต่ข้อดีงานของเราคือเป็นการคลี่คลายมาจากการวาดภาพเหมือน ก็เลยมีสัดส่วนหรือองค์ประกอบที่เป็นของเรา รูปคาแรกเตอร์ที่ดีก็มีหลายนิยาม เพียงแต่งานของเราอาจจะได้เปรียบตรงที่มีความแม่นยำในบางอย่างมากกว่าเท่านั้นเอง เพราะสุดท้ายเราคิดว่ารูปคนที่ดี บางทีก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดตัวคาแรกเตอร์เสมอไป

“ถ้าเรากลายเป็น khunkanith ขึ้นมา คิดว่าตัวเองก็ยังคงเหมือนเดิม อาจจะพูดน้อยลง ออกไปนั่งมองโลกภายนอกเงียบๆ ยอมรับในสิ่งที่เป็น เพราะเรากลายเป็นภาพวาดไปแล้ว อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็เดินหนีไป อาจจะไปนั่งอยู่ในที่ที่เขาห้าม หรือไปนั่งอยู่บนหลังคาบ้านของใครสักคนก็ได้ (หัวเราะ)”

www.facebook.com/khunkanith

ที่มา:

THITIPOOM PHETSANGKHAT เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ ภาพ: วงศกร ยี่ดวง
SUPASARA HONGLADAROMP เรื่อง: ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
SEATAPRON KORWANICHAKUL เรื่อง: วรัญญู อินทรกำแหง  ภาพ: วงศกร ยี่ดวง
KANITHARIN THAILAMTHONG เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ ภาพ: มณีนุช บุญเรือง

Tags: , , ,