มึนอนั่งเงียบอยู่ที่เบาะหลังมาตลอดทางจากกรุงเทพฯ ถึงเพชรบุรี กระจกรถเปิดให้ลมจากข้างนอกเข้ามาบ้างเพื่อความสดชื่น ผมอาสาไปส่งเธอและลูกสาวที่บ้านป่าละอู มึนอชินกับการเดินทางในกรุงเทพฯ เพราะเคยไปๆ มาๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย และสิทธิมนุษยชน ที่มักจัดขึ้นในเมือง ส่วนลูกสาวคนโตของเธอต้องพยายามนอนให้หลับเพราะเมารถ ผมเข้าใจอาการดี เพราะชอบเป็นเหมือนกัน ความเงียบเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรถ และผมปล่อยให้เป็นเช่นนั้น นี่เป็นการพบกันครั้งแรก ความไม่รู้จักและความแปลกหน้าทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้เป็นธรรมดา ผมเห็นว่าการจะก้าวข้ามพื้นที่ว่างนี้ไป ควรให้เวลา และการมีน้อง NGO ร่วมเดินทางมาด้วย ก็น่าจะเป็นสะพานเชื่อมที่ช่วยย่นระยะห่างลงอย่างที่มึนอจะวางใจ ความเงียบทํางานของมันตลอดสองร้อยกว่ากิโลเมตร เมื่อละทิ้งเส้นทางหลวงเลยตัวเมืองเพชรบุรีเข้าสู่เขตป่าแก่งกระจาน ความเขียวของต้นไม้และบรรยากาศของป่า อาจทําให้เธอรู้สึกสบายใจว่าอยู่ที่บ้านแล้ว

เธอเริ่มฮัมเพลง ขอให้ผมลดกระจกลงเพื่อรับอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้น ความเงียบค่อยๆ จางหายไป เสียงลม เสียงพูดคุย เข้ามาแทนที่ ผมรู้สึกผ่อนคลายลง แม้จะไม่ได้รู้จักเธอมากขึ้น แต่คิดว่าความอดทนโดยไม่พยายามก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ของเธอทําให้เธอผ่อนคลายเช่นกัน เธอกําลังฮัมเพลงแผ่วเบาเหมือนร้องให้ตัวเองฟัง เป็นเสียงที่แปลกแต่เพราะจับใจ

ผมถามว่าเพลงอะไร

เธอบอกว่าเป็นเพลงที่พี่ปกาเกอญอคนหนึ่งแต่งไว้ให้ ‘พี่บิลลี่’ เธอคงกําลังคิดถึงชายหนุ่มของเธอ

เรามาถึงในช่วงบ่ายต้นๆ แวะพักที่บ้านในหมู่บ้านใกล้ตัวเมืองที่พวกเขาเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ บ้านทําด้วยไม้ไผ่ตามแบบปกาเกอะญอ มีเตาไฟอยู่บนบ้าน ข้างล่างเลี้ยงหมู และไก่ แม่ของเธอนั่งอยู่บนบ้าน ลูกๆ ของเธอสี่คนนั่งเล่นอยู่บริเวณนั้น มึนอบอกว่าเธอย้ายลงมาอยู่บ้านนี้ได้ปีกว่าแล้วเพื่อความปลอดภัย ไม่บ่อยเท่าเมื่อก่อนที่เธอจะแวะขึ้นไปดูไร่บนเขา เพราะกลัวคนที่ทํากับพี่บิลลี่จะมาทําร้ายเธอและลูก และแม่ก็ไม่ค่อยสบาย

เธอเล่าว่าเมื่อหลายคืนก่อนมีช้างป่าเดินลงมาหาอาหารใกล้ๆ บ้าน หมาเห่ากันขรม ช้างมากินกล้วยข้างบ้าน ผมฟังด้วยความตื่นเต้นและอยากเจอบ้าง เธอบอกว่าอย่าเจอดีกว่า แล้วก็เอ่ยปากชวนเราขึ้นเขาไปดูไร่ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นฉากหลังที่เหมาะกับการถ่ายภาพ รู้สึกดีที่เธอเป็นฝ่ายชวนให้เข้าไปรู้จักกับชีวิตของเธอ แสดงว่าเธอรับรู้ถึงมิตรภาพที่กลายเปลี่ยนจากความแปลกหน้า แต่อากาศในเดือนตุลาคมวันนั้น เมฆครึ้ม และเกรงว่าจะมีฝน ผมขอผลัดเป็นเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนกลับออกมาเพื่อหาที่พัก

เรามาหาเธอในเช้าวันรุ่งขึ้น หลังยืดเส้นยืดสายเธอชวนเราไปที่ไร่บนเขา ผมขับรถข้ามห้วยเล็กๆ สองสามแห่ง ไต่ขึ้นไปบนเนิน ผ่าน โรงเรียน แล้วจึงถึงหมู่บ้านที่สร้างห่างๆ กัน เราจอดรถข้างรั้วไม้ไผ่ จากนั้นลงเดินจากเนินที่ตัวหมู่บ้าน เราเดินข้ามห้วยเล็กๆ น้ำใสแจ๋ว แล้วขึ้นเขาลูกเล็กๆ ไม่นานก็เดินลงเขาแล้วข้ามห้วยที่กว้างขึ้นอีกหน่อย ห้วยนี้เรียกว่าห้วยสัตว์ใหญ่ เด็กทั้งสี่เดินนําหน้าอย่างชํานาญ พวกเขาเดินเป็นแถวทิ้งระยะสั้นยาวตามความคล่องแคล่วของวัย จากเนินที่ค่อยลาดลงห้วย พวกเขา เดินลงน้ำอย่างคุ้นชิน แต่ชาวเมืองอย่างผมละล้าละลัง คาดคะเนความสูงและความลื่น ก่อนจะเดินลงไปแช่ขาในน้ำอย่างปลอดโปร่ง น้ำสูงครึ่งแข้งใสแจ๋ว เย็นเจี๊ยบ เสียงแมลงป่ากรีดปีก เสียงนก เสียงน้ำไหล เสียงใบไผ่ลู่ลมจากป่าไผ่ที่ขึ้นอยู่บนฝั่งทั้งสองข้างลําห้วย ผมอยากจะเปลี่ยนจากท่ายืนเป็นลงไปนอนให้น้ำไหลผ่านร่าง เงยหน้ามองฟ้า แล้วให้เวลาหยุดอยู่ตรงนั้น แต่ภาพของมึนอใส่ชุดพื้นเมืองยืนมองลูกๆ ที่กําลังเดินขึ้นฝั่งชวนให้อยากบันทึกไว้ ท่ามกลางแสงที่ส่องลอดใบไม้ลงมาสะท้อนระยิบระยับบนน้ําของลําห้วย

สิ่งที่เห็นและรู้สึกอยู่ตรงหน้า ทําให้คิดถึงเอ็ดวาร์ด เอส. เคอร์ติส (Edward S. Curtis) ช่างภาพอเมริกันผู้ตระเวนถ่ายภาพชาวอเมริกันพื้นเมืองเอาไว้ ก่อนจะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยผู้อพยพจากยุโรป ภาพถ่ายของเขาแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของมนุษย์ซึ่งแสดงออกด้วยความอ่อนน้อม สั่งสมปรีชาญาณและความชาญฉลาด ที่จะปรับตัวและดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ แต่น่าเสียดาย ในนามของความเจริญพวกคนขาวได้ไล่ล่ากวาดต้อนความงามของชีวิตและจิตวิญญาณให้อยู่แต่ในรอบรั้วของเขตอนุรักษ์ และนั่นก็ไม่ต่างกัน สําหรับชะตากรรมของชาวปกาเกอะญอ

ขณะเดินบนทางป่าเธอเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง ผมฟังพลางมองสีเขียวรอบตัว หมู่เมฆที่เคลื่อนคล้อย และสะสมลมหายใจสะอาด เมื่อเดินผ่านทางลาดที่พอจะให้เหงื่อที่อาบอยู่เต็มแผ่นหลังเย็นวาบด้วยสายลมเย็น เธอบอกว่าตรงนี้พี่บิลลี่เคยเอ็ดเธอ เพราะเธอชอบพูดเวลาอยู่ในป่า ครั้งหนึ่งเจอหมีสองตัวแม่ลูกเตลิดหนี ในขณะที่มันอาจจะเพิ่งเดินลงไปกินน้ำแล้วกําลังจะกลับบ้าน บอกว่าโชคดีนะที่มันไม่เข้ามาทําร้าย แต่เธอบอกพี่บิลลี่ว่าดีนะที่เธอพูดเสียงดัง หมีมันเลยตกใจหนีไป หลังจากบิลลี่หายตัวไป เมื่อต้องขึ้นไปดูแลไร่เธอต้องเดินคนเดียว บางครั้งมีลูกสาวและลูกชายคนโตเดินขึ้นมาเป็นเพื่อน เหงาๆ ก็ฮัมเพลง

“เดินคนเดียว กลัวไหม” ผมถาม

“สัตว์ป่าไม่กลัว กลัวคนมากกว่า”

 

ลูกๆ ของเธอเดินเล่นและวิ่งไปด้วยความคุ้นเคย แกล้งกันบ้าง หยอกล้อกันบ้าง บางคราวน้องคนสุดท้องวิ่งกลับมาฟ้องแม่ มึนอต้องร้องเอ็ดพี่ชายให้ดูแลน้อง ครั้งหนึ่งลูกคนสุดท้องวิ่งสะดุดรากไม้ล้มลงอย่างแรง หนูน้อยลุกขึ้นมาตาแดงๆ มึนอปัดฝุ่นที่เปื้อนเนื้อตัว แล้วเด็กน้อยก็วิ่งปร๋อไล่ตามพี่ชายที่เดินลับหายไปในป่าเบื้องหน้า ผมเดินรั้งท้ายกับมึนอและลูกสาวคนโตของเธอ ที่ช่วยอธิบายต้นไม้และสรรรพคุณให้ผมฟัง ต้นนี้ก็กินได้ ต้นนั้นก็กินได้ ผมดูตามที่เธอชี้และเห็นว่ามันก็เหมือนๆ กันทุกต้น กระทั่งเราไปถึงบ้านไม้ไผ่หลังเล็กยกพื้นสูง ที่สร้างไว้เฝ้าไร่ มึนอสอยฝรั่งให้กิน ลูกเล็ก แข็ง และเปรี้ยว แต่ชื่นใจนัก เด็กๆ เดินเล่นรอบบริเวณ ผมคิดว่าพวกเขารักและผูกพันกับที่นี่ มันมีที่ให้เขาได้เล่นซนมากกว่าในตัวหมู่บ้าน ที่แม้ว่าจะปลอดภัยกว่า แต่มันไม่ใช่ที่ทางของพวกเขา

เราใช้เวลาพักหนึ่งเดินดูรอบๆ ไร่ที่ปลูกข้าว เป็นข้าวพันธุ์เม็ดเล็ก โตเร็ว และทนแล้ง สามเดือนก็เก็บเกี่ยวกินได้ เรานั่งคุยกันบนบ้าน ไม้ไผ่ มึนอจุดไฟเพื่อเพิ่มแสงสว่าง เราคุยกันถึงผลผลิตซึ่งระยะหลังเธอต้องปล่อยให้เสียหาย หนูที่แอบมากินข้าวที่เก็บไว้ พืชที่เสียหายเพราะไม่มีเวลาขึ้นมาเก็บเกี่ยว บทสนทนาเป็นห้วงๆ เหมือนจังหวะที่แทรกความเงียบที่ยังค้างอยู่ อากาศเย็นลง ลมเย็นพัดวูบ ดูเหมือนฝนกําลังจะมา เธอดูนาฬิกาบ่อยๆ พวกเราชวนกันเดินกลับ การเดินกลับมักสั้นกว่าการเดินทางมา แต่เหมือนกับว่าความทรงจําของมึนอปรากฏอยู่ในทุกย่างก้าวบนผืนดินสีน้ำตาล

“ตรงนี้ไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์ ตอนพี่บิลลี่มาดูแลไร่เขาต้องเดินเลาะขึ้นไปบนภูเขาโทรหาหนู”

แววตาของความคิดถึงเป็นแบบนี้นี่เอง

เมื่อผมมองเข้าไปในดวงตาคู่นั้น มันฉายแววที่ระคนไปด้วยความอ่อนโยนของความรักหนุ่มสาว ความ แข็งแกร่งที่ต้องดูแลลูกสี่คน ความเหนื่อยล้ากับการตามหาพี่บิลลี่ และการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

 

ภาพพอร์ตเทรตโดย ศุภชัย เกศการุณกุล
Medium Format 6 x 9 | Black and White Negative Film

Fact Box

  • บิลลี่ - พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนําชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี เขาหายตัวไปในเขตพื้นที่ป่าสงวนแก่งกระจาน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557
  • Edward S. Curtis (1868-1952) ช่างภาพอเมริกันผู้ถ่ายภาพพอร์ตเทรต วิถีชีวิต และพิธีกรรมของชาวอเมริกันพื้นเมืองไว้เป็นจํานวนมาก
Tags: , , , , , , , , ,