ได้เวลาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเจ้าของเว็บไซต์และผู้ให้บริการประเภทต่างๆ ต้องมานั่งศึกษา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ใหม่อีกครั้ง เพราะล่าสุด กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเปิดช่องทางให้ผู้ใช้เน็ตส่งเรื่องร้องเรียนเมื่อพบข้อความผิดกฎหมาย แล้วผู้ให้บริการต้องระงับเนื้อหานั้นๆ โดยทันที เพื่อช่วยให้ตัวเองพ้นจากความผิด ไม่ต้องรับโทษเท่ากับคนโพสต์ข้อความ

การเอาผิดแบบเหมาทั้งคนโพสต์และผู้ให้บริการเกิดขึ้นมานานแล้วในกฎหมายไทย ย้อนไปสิบปีที่แล้ว นับแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแรกประกาศใช้เมื่อปี 2550 กฎหมายกำหนดไว้ว่า เมื่อมีเนื้อหาออนไลน์ใดๆ ที่ผิดกฎหมาย โทษไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนโพสต์ข้อความเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ให้บริการ ตั้งแต่เจ้าของเว็บไซต์ ผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโฮสติ้ง และอื่นๆ ที่ต่างก็อยู่ในความเสี่ยงต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

ที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งว่าการเอาผิดลงโทษผู้ให้บริการเป็นวิธีที่ไม่เป็นธรรม ไม่สมเหตุสมผล ทำให้ผู้ให้บริการกลัวและต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความกำกวมของภาษากฎหมายที่บอกว่า ผู้ให้บริการรายใด “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ก็ต้องมีโทษทางอาญาเท่ากับเจ้าของข้อความ คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งคำว่า “สนับสนุนหรือยินยอม” ก็ไม่มีหลักที่ชัดเจน ที่ผ่านมาจึงมีตัวอย่างของผู้ให้บริการที่โชคร้าย เช่น เป็นผู้ให้บริการที่ต้องติดคุกเพราะมีคนโพสต์คลิปวาบหวิวในพื้นที่ของตัวเอง ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดที่ถูกฟ้องฐานมีข้อมูลเท็จ เพียงเพราะมีคนเขียนบ่นไม่พอใจสินค้าและบริการบนเว็บบอร์ดในทางที่เจ้าของสินค้าและบริการไม่พอใจจนไปฟ้องคดี

ในเมื่อกรณีต่างๆ เหล่านั้น ผู้ให้บริการแทบไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ กับข้อความ เพราะเป็นเพียงตัวกลางที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต บ้างก็เป็นตัวกลางให้บริการเซิร์ฟเวอร์หรือเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็เขียนขึ้นจากความคาดหวังให้ทุกคนต้องร่วมกันตรวจตราสอดส่องเนื้อหาออนไลน์ จึงกำหนดโทษบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขล่าสุดที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา มีพัฒนาการเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่พยายามอุดช่องโหว่ของการตีความว่าเมื่อใดจึงเรียกว่า “ให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ” กฎหมายฉบับแก้ไขล่าสุดจึงสร้าง “มาตรการแจ้งเตือน” หากผู้ให้บริการได้รับหนังสือแจ้งเตือนแล้วระงับเนื้อหานั้นๆ ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด ก็ถือว่าพ้นความผิด

ใครๆ ก็มีสิทธิ์แจ้งลบเนื้อหาหรือบล็อคเว็บไซต์

รายละเอียดเกี่ยวกับการทำ ‘มาตรการแจ้งเตือน’ ระบุอยู่ใน ประกาศของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 22 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ประกาศฯ กำหนดว่า ผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษฐานให้ความร่วมมือ ให้ความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ หากพิสูจน์ได้ว่ามีมาตรการเพื่อการแจ้งเตือนและระงับการเผยแพร่หรือนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์

ผู้ให้บริการต้องจัดทำ ‘หนังสือแจ้งเตือน’ หรือ Take Down Notice โดยมีแบบฟอร์มร้องเรียนให้บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งให้ระงับการแพร่หลายหรือลบเนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมายได้

ส่วนบุคคลทั่วไปที่ต้องการแจ้งข้อมูลผิดกฎหมาย สามารถไปสถานีตำรวจเพื่อขอลงบันทึกประจำวันหรือแจ้งความร้องทุกข์ แล้วแนบเอกสารนั้นมากับแบบฟอร์มร้องเรียน เมื่อผู้ให้บริการได้รับเรื่อง ต้องเร่งระงับการแพร่หลายของข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด

ด้วยกลไกนี้ เท่ากับว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ นอกจากจะเพิ่มช่องทางการบล็อคข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง ในทางปฏิบัติยังอาจรวมไปถึงการบล็อคเว็บไซต์ ที่จากเดิมต้องให้เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นขอคำสั่งศาลเท่านั้น จึงจะบล็อคเว็บไซต์ได้ แต่กฎหมายใหม่ก็เปิดช่องให้กระทำได้ โดยคนทั่วไปสามารถไปที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันหรือแจ้งความ แล้วนำเอกสารนั้นมายื่นให้ผู้ให้บริการเพื่อระงับการเข้าถึงข้อมูลหนึ่งใดหรือเว็บไซต์ได้โดยทันที

โต้แย้งคำร้องเรียนได้ แต่ต้องถอดเนื้อหาออกก่อน

สิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เขียนเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แม้เป็นการติชมโดยสุจริต แต่หากพูดจาไม่เข้าหูกัน ก็จะถูกร้องเรียนให้ถอดเนื้อหาออกได้ง่ายๆ ที่พบบ่อย เช่น ไปกินอาหารแล้วไม่อร่อย จึงโพสต์ในอินเทอร์เน็ต ใช้สินค้าหรือบริการแล้วพบจุดอ่อน จึงเขียนรีวิวในบล็อก เรื่องเหล่านี้เคยเป็นประเด็นที่ทำให้คู่กรณีไม่อยู่นิ่ง พยายามหาวิธีถอดข้อความออกจากอินเทอร์เน็ตเสมอมา กลไกที่จำเป็นก่อนจะถอดเนื้อหาใดๆ ออก คือต้องพิจารณาคำร้องเรียนว่ามีน้ำหนักเพียงพอที่จะต้องระงับการเข้าถึงหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และในประกาศกระทรวงฯ

ตามกฎหมายปัจจุบัน คล้ายกับว่าเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการระดับต่างๆ ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องระงับเนื้อหา มีเพียง ‘เจ้าของเนื้อหา’ ที่มีสิทธิ์โต้แย้ง แต่กลไกก็ถูกออกแบบไว้ว่าให้ลบก่อน แล้วค่อยแย้งทีหลัง นั่นคือทันทีที่ผู้ให้บริการได้รับคำร้องเรียน ต้องลบหรือถอดเนื้อหาดังกล่าว ภายในเวลาดังนี้

– หากเป็นข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลเท็จ ต้องลบหรือถอดภายใน 7 วัน

– หากเป็นข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง ต้องลบหรือถอดภายใน 24 ชั่วโมง

– หากเป็นข้อมูลลามกอนาจาร ต้องลบหรือถอดภายใน 3 วัน

ร้องเรียนไม่เป็นธรรม จะโต้แย้งอย่างไร

เจ้าของเนื้อหาออนไลน์ที่ถูกร้องเรียนให้ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ สามารถโต้แย้งได้โดยไปที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันหรือแจ้งความร้องทุกข์ แล้วนำเอกสารนั้นมาขอให้ผู้ให้บริการยกเลิกการระงับการเข้าถึงอีกที ผู้ให้บริการจะเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะยกเลิกหรือไม่

วิธีนี้ทำให้คนน่าจะไม่อยากแชร์ข้อมูลใดๆ เพราะเป็นมาตรการที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายเผยแพร่ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ต้องเทียวไปเทียวมาหาตำรวจและผู้ให้บริการ สู้อยู่เฉยๆ ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ จะง่ายต่อชีวิตมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ในทางปฏิบัติ กลไกการโต้แย้งยากจะเกิดขึ้นได้จริง หากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญและละเอียดอ่อน ซึ่งผู้เผยแพร่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน หรือในฐานะ whistle blower ที่การเปิดเผยตัวตนจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อภัยอันตราย การออกมาโต้แย้งก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ทางด้านผู้ให้บริการ ก็แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการจะตัดสินใจปลดบล็อค เพราะหากปลดบล็อค ก็ยิ่งชัดเจนว่าผู้ให้บริการให้ความร่วมมือ ยินยอม และรู้เห็นเป็นใจไปโดยปริยาย หากในอนาคต ข้อความดังกล่าวถูกฟ้องคดี ผู้ให้บริการก็ต้องรับความผิดด้วยโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

ในมุมมองของรัฐ อาจวางใจว่ากลไกแบบนี้จะช่วยให้ชุมชนอินเทอร์เน็ตแสดงความคิดเห็นอย่างรับผิดชอบมากขึ้น ช่วยขจัดเนื้อหาไม่ดีออกจากอินเทอร์เน็ตได้ เช่น ช่วยป้องกันไม่ให้คนใส่ร้ายใส่ความกันแบบไม่มีที่มาที่ไป แต่นั่นก็สะท้อนว่าผู้กำหนดนโยบายไม่เชื่อว่าชุมชนออนไลน์มีวิธีอื่นๆ ในการจัดการข้อมูลด้วยตัวเอง และจะมีการพัฒนาวุฒิภาวะในการเสพข่าวสาร ทำให้ต้องมีกฎที่เข้มงวดออกมา ดังที่เห็นใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือกำหนดเพดานการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด ภายใต้ข้ออ้างเรื่องข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

อ้างอิง:
ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/188/6.PDF
ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. 2560
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/188/21.PDF
ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/188/16.PDF
กระทรวงดีอีออกประกาศชัด ผู้ให้บริการต้องลบข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน 24 ชั่วโมง, iLaw
https://ilaw.or.th/node/4575

FACT BOX:

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ออกมาเมื่อ 23 มกราคม 2560 กำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน คือตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ในกฎหมายกำหนดให้ออกประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องภายใน 60 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กรกฎาคม 2560
  • ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ข้อ 5 กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องจัดให้มีมาตรการแจ้งเตือน (Take Down Notice) โดยจัดให้มีแบบฟอร์มข้อร้องเรียนเพื่อให้บุคคลทั่วไปแจ้งระงับหรือลบเนื้อหาออนไลน์ และอาจแนบเอกสารบันทึกประจำวันหรือใบแจ้งความได้
  • คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีทั้งหมด 8 คน โดยต้องมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 3 คน มีปลัดกระทรวงเป็นประธาน กรรมการอีก 7 คนแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ คือ ด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน นิติศาสตร์ วัฒนธรรม คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
Tags: , , , , ,