“ที่จีนมีตึก 6 ชั้นเป็น Co-working Space หน้าตึกเป็นรูปยูนิคอร์น สร้างมาเพื่อปั้นสตาร์ตอัปจีนให้กลายเป็นยูนิคอร์น นี่แค่การร่วมลงทุนเจ้าเดียว ลองคิดดูว่ามีแบบนี้กี่พันเจ้าในเมืองจีน มองกลับมาที่บ้านเรา จะทำอย่างไรที่จะแข่งขันกับคนพวกนี้ได้”

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เล่าถึงความรู้สึกที่ทำให้เขาถึงกับนอนไม่หลับเมื่อได้ไปดูงานที่นั่น แถมหยิบมือถือขึ้นมาโชว์รูปที่เขาถ่ายอาคารนี้ไว้ให้ผมดูด้วย

ในสภาวะที่การแข่งขันระดับประเทศอยู่ที่รากฐานของการสร้างสตาร์ตอัปในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและแข็งแกร่งเพื่อออกไปสู้กับสตาร์ตอัปในต่างประเทศ หนทางหนึ่งที่ช่วยทั้งสถาบันการเงินดั้งเดิมและสตาร์ตอัปรายใหม่ ก็คือการที่สถาบันการเงินเข้ามามีบทบาทช่วยเป็นคันเร่งให้สตาร์ตอัปไทยใส่เกียร์เดินหน้าได้เต็มที่

เพราะสถาบันการเงินเป็นองค์กรใหญ่ที่พร้อมรับความเสี่ยง

Digital Ventures Accelerator (DVA) เป็นโครงการของดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เฟ้นหาสตาร์ตอัปไทยมาเข้าร่วมหลักสูตรเตรียมความพร้อม จัดคอร์สให้องค์ความรู้

โครงการนำร่องของ Digital Ventures Accelerator หรือ DVA Batch 0 เมื่อปีที่แล้วนั้น มีสตาร์ตอัปไทย 10 รายได้รับคัดเลือก และต่อมา ในรอบปีที่สองนี้ จึงเกิดโครงการต่อเนื่องเป็น DVA Batch 1 ที่คัดเลือกสตาร์ตอัปอีก 10 ทีมจากทั้งหมด 148 ทีม

เมื่อแบงก์หิวนวัตกรรม

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด พูดถึงโครงการนี้ว่า จะเน้นบ่มเพาะสตาร์ตอัปที่มุ่งสร้างการเติบโตและขยายขนาดธุรกิจ (grow & scale) อย่างยั่งยืนแบบ 360 องศา ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารไทยพาณิชย์และดิจิทัล เวนเจอร์ส ทั้งด้านความรู้และเงินทุน

ทีมที่เข้าร่วม จะได้เงินทุนแบบให้เปล่า 300,000 บาทตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ และเสนอเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาทกับสตาร์ตอัปที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาหลังจบโครงการ

อรพงศ์ เทียนเงิน

อรพงศ์ เทียนเงิน

“เราทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้แบงก์วิ่งให้เร็วที่สุด ตามโลกให้ทัน ทำอย่างไรให้เราได้เห็นเทคโนโลยีก่อนใคร แล้วเอามาทดลองใช้กับแบงก์ ขณะเดียวกันเราก็อยากส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ตอัปในไทยให้เติบโต เพื่อใครมีไอเดียที่ดี เราจะได้เป็นคนแรกที่ได้นำไอเดียเหล่านั้นมาทำธุรกิจ”

บทเรียนจาก DVA Batch 0 ทำให้เห็นโอกาสในการต่อยอดได้มาก เป็นโอกาสที่ทางธนาคารได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสตาร์ตอัปหลายราย และนำความรู้ของสตาร์ตอัปมาเสริมความแข็งแรงให้กับ SCB ส่วนสตาร์ทอัพเองก็ได้เรียนรู้โดยมีธนาคารใหญ่เป็นพาร์ตเนอร์

“เราทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้แบงก์วิ่งให้เร็วที่สุด ตามโลกให้ทัน ทำอย่างไรให้เราได้เห็นเทคโนโลยีก่อนใคร”

“เป็นการทำธุรกิจวิน-วิน ฝั่งแบงก์ได้ความรู้ใหม่ๆ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และมีบริการใหม่ๆ ส่วนสตาร์ตอัป ถ้าต่อกับแบงก์ติดก็จะโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะเงินที่แบงก์ปล่อยไปในตลาดเศรษฐกิจปีหนึ่งนับแสนล้านบาท ฉะนั้นทำอย่างไรให้สตาร์ตอัปที่เข้ามาโครงการนี้แล้วช่วยคิดต่อยอด มาทำงานร่วมกัน แล้วเราเป็นผู้ช่วยเหลือ

“เราเชื่อว่าทั้ง 10 ทีมที่เข้าร่วมโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ เป็นโอกาสที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน พอผ่านโครงการนี้ไป เราเชื่อว่าจุดจบจะสูงกว่าจุดตั้งต้น”

ด้านชาล เจริญพันธ์ Head of Accelerator บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า หัวใจของโครงการนี้คือการให้สตาร์ตอัปไทยได้ความรู้ในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ และเป็นความรู้เชิงลึก เมื่อผ่านโครงการนี้ออกไปจะได้เป็นสตาร์ตอัปที่รอบรู้ในทุกด้าน

ชาล เจริญพันธ์

ชาล เจริญพันธ์

“การจะมีนวัตกรรมขององค์กร (Corporate Innovation) เราจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีองค์ความรู้ มี passion ที่บริษัทใหญ่ๆ ไม่มี แล้วด้วยความต่างเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของแบงก์กับสตาร์ตอัป มันต่างกันมากๆ เราเลยปฎิบัติกับโครงการนี้เหมือนเป็นสตาร์ตอัปหนึ่งเจ้า มีการทำแผนและทดลองไประหว่างทาง อะไรที่เวิร์กไม่เวิร์กก็ปรับกันไป”

หลังสตาร์ตอัปที่เข้าร่วมโครงการครั้งแรกลองทำงานไป 4 เดือน ได้รับเงินลงทุนต่อเนื่องรวมกว่า 125 ล้านบาท มีการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสตาร์ตอัปและพาร์ตเนอร์ 31 ราย และได้ทดลองความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ (Proof of Concept) ร่วมกับพาร์ตเนอร์ 17 ครั้ง

“DVA Batch 1 เราใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากรุ่นแรกมาปรับใช้ เราคัดเลือกจากการสมัครออนไลน์ ใช้เวลาสัมภาษณ์ 45 นาทีต่อทีม แล้วคัดเหลือ 10 ทีมในวันนี้ ผมเชื่อว่านี่คือสตาร์ตอัปที่มีผู้ก่อตั้งที่ดีที่สุดในประเทศไทย”

“เราต้องการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง เราเลยเชิญรุ่นที่แล้วมาเป็นพี่เลี้ยงให้ เพื่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเข้าด้วยกัน สิ่งที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ คือเราให้เงินตั้งต้น 3 แสนบาท และตอบจบเรามีเงินให้อีกมากกว่า 8.75 ล้านบาท”

เป็นการซื้อ Asset เพื่อความเป็นผู้นำและแตกต่าง

ในขณะที่ทุกแบงก์หันมาจับสตาร์ตอัปเหมือนกันหมด แล้วอะไรคือความแตกต่างของ SCB

ในเรื่องนี้อรพงศ์ให้ความเห็นว่า ธนาคารทุกรายต่างมองว่าการร่วมลงทุน (Venture Capital) คือการลงทุน แต่เขามองว่าเป็นการซื้อ Asset หน้าที่ของการร่วมลงทุนมีสองขา ขาแรกเป็นการลงทุนในสตาร์ตอัปที่โดดเด่นมีเทคโนโลยีให้เราต่อยอดได้ ส่วนขาที่สองคือ ช่วยให้การพัฒนาไอเดียไปสู่ธุรกิจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

“เราจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีองค์ความรู้
มี passion ที่บริษัทใหญ่ๆ ไม่มี”

“ผมมีทีมทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เราเรียนรู้ทุกวันกับสตาร์ตอัป ข้อเด่นและข้อด้อยในเรื่องเดียวกันคือการดำเนินการ เหมือนมีทิศทางและศักยภาพ แต่ระหว่างทางไม่รู้จะทำแบบไหน การที่เราได้ริเริ่มใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จริงๆ มันทำให้เราเห็นก่อนว่ามันเวิร์กไหม รู้ว่ามีข้อจำกัดอะไร ถ้าเรารอให้สตาร์ตอัปเหล่านี้เป็นคอมเมอร์เชียล ถึงเวลานั้นทุกคนใช้หมดแล้ว กลายเป็นเราเท่ากับคนอื่น แต่ตอนนี้เรานำคนอื่นอย่างน้อย 3-5 ปี เพราะกว่าที่เทคโนโลยีจะพร้อมใช้งานได้มีอย่างต่ำ 3 ปี การที่เราได้ใช้ก่อน เมื่อถึงวันที่เขาพร้อม เรามีความรู้ก่อนแล้ว

“เพื่อสร้างความเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีมาใช้บริการด้านการเงินในประเทศไทย” อรพงศ์ย้ำกับเรา

ว่าด้วยโลกของสตาร์ตอัปที่เปลี่ยนไป

ข้อสงสัยที่ว่า ระบบนิเวศของสตาร์ตอัปทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป หมุนเร็วแค่ไหน

“ไอเดียดั้งเดิม อะไรที่น่าตื่นเต้นหรือเป็นนวัตกรรม วงจรชีวิตสั้นมากๆ ผ่านไปไม่ถึงปี มันไม่ใช่บิ๊กไอเดียแล้ว เพราะหลังจากนั้นจะมีคนก๊อปปีไม่รู้เท่าไหร่ อย่างเรื่อง Payment ปีที่แล้วเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก ปีนี้มีใครตื่นเต้นกับเรื่องนี้บ้าง มันมาเยอะเสียจนไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น”

“เราต้องเร่งเครื่องให้เขา ถ้า 6 เดือนยังไม่พุ่งออกไป เดี๋ยวมีอีก 10 คนทำได้เช่นกัน เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ในคลาวด์ เราไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะเลย อยากใช้เครื่องมืออะไรบนคลาวด์มีหมด เสียเงินนิดเดียว ฉะนั้นวงจรมันสั้นจนน่ากลัว การแข่งขันจริงๆ ต้องหา Original Thinker” อรพงศ​์กล่าวทิ้งท้าย

“ถ้า 6 เดือนยังไม่พุ่งออกไป เดี๋ยวมีอีก 10 คนทำได้เช่นกัน”

สตาร์ตอัปที่เข้าร่วมโครงการ DVAb1 ครั้งนี้มีทั้งหมด 10 ทีม ประกอบด้วย

  • ChomCHOB แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนแต้มคะแนนบัตรต่างๆ ให้ใช้ได้เสมือนเงิน
  • Dootv Media ระบบ video streaming เพื่อคอนเทนต์ที่เต็มอรรถรส
  • ENERGY RESPONSE แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการจัดการพลังงานในอาคารอย่างชาญฉลาด
  • Event Banana แพลตฟอร์มการจัดการด้านพื้นที่และสถานที่จัดงาน
  • Happenn ระบบงานอีเวนต์ที่ครบจบในที่เดียว
  • JuiceInnov8 เทคโนโลยีลดน้ำตาลเพื่อน้ำผลไม้แห่งอนาคต
  • Meticuly ชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเพื่อความต้องการเฉพาะบุคคล
  • MyCloudFulfillment ระบบจัดการโลจิสติกส์ ให้การซื้อขายเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องสต๊อก
  • Ooca บริการปรึกษาจิตแพทย์ยุคใหม่ผ่านระบบวิดีโอคอล
  • Sellorate แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับตัวแทนและนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์อิสระ

ทั้งนี้ DVA Batch 1 มีระยะเวลา 6 เดือน สำหรับช่วง 3 เดือนแรกเป็นการปูพื้นฐานสตาร์ตอัปที่เข้าร่วมด้วยความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ ทั้งความรู้ด้านกฎหมายโดยบริษัทกฎหมายระดับโลกอย่าง เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ (Baker & McKenzie) ความรู้ด้านการเงิน โดยไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี (PrimeStreet Advisory) พร้อมด้วยความรู้ในการทำธุรกิจสตาร์ตอัป

ส่วนช่วง 3 เดือนหลัง จะมุ่งให้สตาร์ตอัปสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยโปรแกรม Growth Hacking นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรผู้นำในธุรกิจที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เหมาะสมกับธุรกิจของแต่ละทีม มาช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์และให้คำปรึกษา

Tags: , , , ,