เครื่องประดับดีไซน์แปลกตาที่ถูกจัดวางอยู่ภายใน ATTA Gallery แกลเลอรีสีสว่างใจกลางย่าน ‘เจริญกรุง Creative District’ ชวนให้เราตั้งคำถามอย่างอดไม่ได้ ด้วยสีสันและรูปทรงอันจัดจ้าน แถมบางชิ้นยังทำจากตุ๊กตา ลูกปัดหายาก โลหะ ไปจนถึงพลาสติก ซึ่งแตกต่างจากเครื่องประดับในท้องตลาดที่เราคุ้นเคย

เราจึงหอบคำถามคาใจว่าเครื่องประดับที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Wearable Art เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คุณค่าและมูลค่าของมันอยู่ตรงไหน แล้วใครคือกลุ่มเป้าหมายของมัน

ว่าแล้วก็ตรงไปหาผู้ก่อตั้งแกลเลอรี คุณเจื้อย—อตินุช ตันติวิท กันเลยดีกว่า

Wearable Art คืออะไร ต่างจากเครื่องประดับทั่วไปอย่างไร

ถ้าพูดให้เห็นภาพต้องบอกว่า Wearable Art เป็นงานศิลปะแบบหนึ่งที่อยู่ในฟอร์มของเครื่องประดับ คืองานศิลปะทั่วไปมักถูกแสดงผ่านผืนผ้าใบหรือผนังแกลเลอรี แต่ Wearable Art จะถูกจัดแสดงอยู่บนร่างกายของเราแทน เป็นการนำเสนอชิ้นงานศิลปะผ่านการสวมใส่ อีกอย่างที่ทำให้ Wearable Art ต่างจากเครื่องประดับทั่วไปคือกระบวนการสร้างงาน เพราะศิลปินจะตั้งต้นจากคิดคอนเซ็ปต์ขึ้นมาก่อน แล้วจึงคิดว่าคอนเซ็ปต์นั้นเรียกร้องให้ใช้วัสดุอะไร ด้วยวิธีการแบบไหน เป็นวิธีการเดียวกับการสร้างงานศิลปะทุกอย่าง เราจึงเรียกเครื่องประดับแนวนี้ว่างานศิลปะ

แสดงว่าคุณค่าของเครื่องประดับแนวนี้อยู่ตรงกระบวนการสร้าง

คุณค่าน่าจะเกิดจากทั้งคอนเซ็ปต์ แนวคิด และเป็นเรื่องของงานฝีมือด้วย เพราะถึงแม้คอนเซ็ปต์จะดี แต่ถ้าสร้างงานออกมาไม่ดี มูลค่าของงานชิ้นนั้นก็จะลดลง มันจะไม่ใช่งานฝีมือ เครื่องประดับบางชิ้นอาจดูว่าสร้างขึ้นง่าย อย่างการเอาตุ๊กตามาย่อยให้เกิดฟอร์มใหม่ จนกลายเป็นสร้อยคออะไรแบบนี้ ถ้าเขาทำชุ่ยๆ เย็บไม่เรียบร้อย มันก็จะดูราคาถูกไปเลย แต่ถ้าเขาประณีตกับมัน งานก็จะออกมาเป็นอีกระดับ

แล้วอะไรคือเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างเครื่องประดับในฐานะงานดีไซน์กับ Wearable Art

น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ร่วมในชิ้นงาน จริงๆ แล้วถึงแม้เราจะติดป้ายไว้ว่าห้ามจับ แต่ถ้ามีคนสนใจ เราก็อยากให้เขาลอง เพราะงานบางชิ้นสวยเมื่อติดอยู่บนผนัง แต่พอมาอยู่บนร่างกายแล้วอาจไม่สวยก็ได้ กลับกัน บางชิ้นวางไว้อาจไม่สวย แต่พอมาประดับบนร่างกายแล้วกลายเป็นสวยขึ้นมา มันเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับทั้งศิลปินและผู้ชม คือศิลปินเขาอาจจะมีวิธีคิดในการทำงานแบบหนึ่ง แต่ผู้ชมก็มีส่วนเข้าไปสร้างเรื่องราวของตัวเองผ่านการสวมใส่เครื่องประดับชิ้นนั้นๆ ด้วยเหมือนกัน มีบางครั้งเราอธิบายคอนเซ็ปต์ชิ้นงานของศิลปินให้ผู้ชมฟัง แต่เขากลับรู้สึกชอบงานน้อยลง เพราะเขาชอบเรื่องราวที่สร้างขึ้นเองมากกว่า แต่บางคนฟังคอนเซ็ปต์แล้วกลับรู้สึกชอบชิ้นงานมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าที่มาที่ไปมันแข็งแรง เหล่านี้คือการตัดสินจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งสิ้น

งานชิ้นไหนที่มีอิทธิพลกับผู้ชมมากๆ

ล่าสุดก็น่าจะเป็นชิ้นงานของ อะยะ อิโตะ (Aya Itoa) เป็นครั้งแรกที่เราทำงานกับนักศึกษาปริญญาโทชาวญี่ปุ่น และงานของเขาออกมาดีมากๆ คือเครื่องประดับของอะยะตั้งต้นจากคอนเซ็ปต์เสียงเต้นของหัวใจในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เวลาเราตกใจ หัวใจก็เต้นเสียงหนึ่ง ตกหลุมรักก็อีกเสียงหนึ่ง สุดท้ายเลยออกมาเป็นชุดเครื่องประดับดีไซน์ประหลาดแต่น่ารักที่ใช้ติดบริเวณหน้าอกข้างซ้าย อิทธิพลของมันมาจากทั้งเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างงานของศิลปินและเรื่องราวที่ผู้ชมสร้างขึ้นขณะสวมใส่ชิ้นงาน

อันที่จริงเราอยากเรียกผลงานทำนองนี้ว่า Wearable Art Piece มากกว่า ไม่อยากเรียกมันว่าเครื่องประดับสักเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงเครื่องประดับ คนทั่วไปก็จะนึกถึงเพชรพลอยใช่ไหม แต่เครื่องประดับที่จัดแสดงอยู่ที่ ATTA Gallery แทบไม่มีส่วนผสมของสิ่งเหล่านั้นเลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก คนที่เขาตั้งใจมาซื้อเครื่องประดับก็อาจจะผิดหวังนิดหนึ่ง

ที่ว่าไม่มีเพชรพลอย หรือมีบ้าง แล้วที่ผ่านมา วัสดุที่แปลกหรือเกินความคาดหมายของผู้สวมใส่ มีอะไรบ้าง

ชิ้นที่ว้าวมากๆ คงเป็นผลงานของศิลปินชาวเยอรมันชื่อ Carina Chitsoz-Shostary เขาทำเครื่องประดับจากสีที่กะเทาะจากกำแพงกราฟิตี้ในเมืองมิวนิก คือต้องเล่าก่อนว่าในเยอรมนีมีกฎหมายห้ามพ้นสีสเปรย์บนกำแพง รัฐเลยจัดโซนให้ศิลปินกราฟิตี้ทำงานกันเป็นสัดส่วน พอนานเข้า สีบนกำแพงบริเวณนั้นก็หนาขึ้นเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็กะเทาะหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ศิลปินคนนี้เลยไปรวบรวมสีที่กะเทาะมาผสมกับวัสดุอื่นเพื่อทำเป็นสร้อยคอ ด้วยแนวคิดว่าสีที่หลุดร่อนออกมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นชิ้นส่วนแห่งกาลเวลา

บทบาทของ ATTA Gallery กับงานศิลปะแขนงนี้คืออะไร พื้นที่ตรงนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง

เรานับตัวเองเป็นพื้นที่กลางให้ศิลปินนำผลงานมาจัดแสดง และนับตัวเองเป็นพื้นที่ส่งต่อความรู้ในศาสตร์ Wearable Art ด้วย ตอนนี้เรามีศิลปินในสังกัดประมาณ 30 คน แต่ละคนก็จะมีผลงาน Wearable Art ของตัวเองเวียนมาจัดแสดงอยู่บริเวณส่วนกลาง ซึ่งตอนนี้เรากำลังปรับโครงสร้างของศิลปิน คือถ้าศิลปินไม่สร้างผลงานต่อเนื่อง หรือไม่มีพัฒนาการที่ชัดเจน เราอาจต้องปรับออก เพื่อขยายพื้นที่ให้ศิลปินใหม่ๆ เข้ามาจัดแสดง

อีกด้านหนึ่ง เราอยากให้ ATTA เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับศิลปินหรือนักศึกษาที่รักในงานศิลปะแขนงนี้ ผ่านการจัดแสดงผลงานที่สื่อให้เห็นภาพรวมของ Wearable Art หรืองานที่ช่วยกระตุ้นไอเดียให้กับผู้ชม รวมถึงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการสร้างชิ้นงานให้กับศิลปินหน้าใหม่ด้วย เพราะงานบางชุดคอนเซ็ปต์ดี แต่กระบวนการสร้างยังไม่ละเอียดพอ เราก็ให้คำแนะนำเขาได้ว่าทำอย่างไรมูลค่าจะเพิ่มขึ้น และถ้าคำแนะนำนั้นมีส่วนทำให้ผลงานของเขาพัฒนาขึ้น — เท่านี้เราก็ดีใจแล้ว

 

ถ่ายภาพโดย นัฐพงษ์ แสงทองล้วน

FACT BOX:

เจื้อย – อตินุช ตันติวิท จบปริญญาตรีและโทด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเล เริ่มต้นงานเครื่องประดับจากเวิร์กช็อปสอนทำแหวนระหว่างการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ประสบการณ์ครั้งนั้นจุดประกายความชื่นชอบในศิลปะแขนงนี้ และก่อตั้ง ATTA Gallery เมื่อปี 2010

Tags: , ,