‘อาสนวิหารอัสสัมชัญ’ คือจุดหมายสุดท้ายของโครงการทัศนศึกษา ‘รู้เรื่องไทย เข้าใจประวัติศาสตร์ ตอน คริสตศาสนสถานริมฝั่งเจ้าพระยา’

​ หากไล่เรียงตามลำดับเวลา อาสนวิหารอัสสัมชัญถือกำเนิดหลังจากวัดคอนเซ็ปชัญ (2217) วัดซางตาครู้ส (2312) และวัดแม่พระลูกประคำ (2329) โดยมีพิธีเสกในวันฉลองแม่พระลูกประคำเมื่อปี 2365

ที่นี่คืออาสนวิหารประจำมิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอาสนวิหารที่งดงามที่สุดในประเทศไทย น่าเสียดายที่เอกสารจำนวนมากของอาสนวิหารถูกเพลิงเผาผลาญในปี 2407 ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้หลงเหลืออยู่ไม่มาก

 

วัดอัสสัมชัญหลังแรก

ในปี 2352 คุณพ่อปาสกัลถวายเงินจำนวน 1,500 บาท (ซึ่งบอกบุญกับบรรดาชาวคริสต์และญาติพี่น้องมิตรสหายของท่าน) แก่พระสังฆราชฟลอรังส์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอา หลังจากนั้น พระสังฆราชฟลอรังส์จึงซื้อที่ดินแปลงแรกในราคา 250 บาท ต่อมาในปี 2363 จึงซื้อที่ดินแปลงที่สองซึ่งเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญในปัจจุบัน รวมทั้งโรงเรียนของวัด (อัสสัมชัญศึกษา) โรงเรียนของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (อัสสัมชัญคอนแวนต์) สำนักพระสังฆราช ศูนย์คาทอลิก และบริษัท อีสต์ เอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด

อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลไม่เพียงพอสำหรับการสร้างวัด พระสังฆราชฟลอรังส์จึงต้องขอรับเงินบริจาคจากพระคาร์ดินัลแห่งกรุงโรม การก่อสร้างวัดหลังแรกจึงเริ่มขึ้นในปี 2363 แล้วเสร็จในปีต่อมา ก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นอาสนวิหารอัสสัมชัญอันเป็นที่พำนักของพระสังฆราช

​พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์เขียนถึงวัดอัสสัมชัญและสำนักพระสังฆราชไว้ในหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม ดังนี้

“มีโบสถ์คริสตังหรือค่ายคริสตังอยู่ 5 แห่งด้วยกันในนครหลวง แห่งแรกชื่อค่ายอัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัยเสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันสง่างามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบ 40 ปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากแม่น้ำลึกไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นสำนักพระสังฆราชอันสูงเด่น (สร้างโดยพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์) ซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึง 3,000 ฟรังก์เศษ”

 

วัดอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน

เมื่อชาวคริสต์มีจำนวนมากขึ้น ทำให้วัดหลังเก่าคับแคบ คุณพ่อเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ เจ้าอาวาสในเวลานั้น จึงปรึกษาหารือกับคุณพ่อโรมิเออซึ่งเป็นเหรัญญิกของมิสซังและเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการก่อสร้าง ก่อนจะเห็นร่วมกันว่าควรดำเนินการก่อสร้างวัดหลังใหม่ โดยคุณพ่อกอลมเบต์รับหน้าที่เป็นผู้หาเงินทุน ส่วนคุณพ่อโรมิเออเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง โดยมีสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ

พิธีเสกศิลาฤกษ์ของวัดหลังใหม่จัดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2453 สองวันหลังจากการอภิเษกพระสังฆราช แปร์รอสที่วัดแม่พระลูกประคำ (วัดกาลหว่าร์) โดยพระสังฆราชแปร์รอสเป็นผู้เสกศิลาฤกษ์

อาสนวิหารหลังปัจจุบันสร้างเสร็จในปี 2461 และในวันที่ 15 สิงหาคม 2462 ซึ่งตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คุณพ่อกอลมเบต์จึงถือโอกาสนี้มอบอาสนวิหารให้เป็นวิหารของแม่พระ ผู้ประกอบพิธีเสกคือพระสังฆราชแปร์รอส ท่ามกลางนักบวชชายหญิง ทูตานุทูตต่างประเทศ และชาวคาทอลิกจำนวนมาก

 

สถาปัตยกรรม

สถาปนิกชาวฝรั่งเศสคือผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาสนวิหารอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน โดยวัสดุส่วนใหญ่ (เช่น หินอ่อนและกระจกสี) นำเข้ามาจากฝรั่งเศสและอิตาลี

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารอัสสัมชัญได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสมัยเรอเนซองส์ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในยุคต้นศตวรรษที่ 15 ในประเทศอิตาลี และแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป โดยเป็นการนำรูปลักษณ์และองค์ประกอบในยุคคลาสสิก (โรมัน) กลับมาใช้อีกครั้ง แต่ใช้กรรมวิธีและเทคนิคการก่อสร้างของยุคกอทิก

ลักษณะที่เห็นเด่นชัดของอาสนวิหารคือการคำนึงถึงสมดุล (symmetry) ไม่ว่าจะเป็นผนังอาคารและหอคอย ซึ่งขนาบทั้งสองด้านของทางเข้าซุ้มประตู และหน้าต่างยอดครึ่งวงกลมซึ่งรายรอบอาสนวิหารก็แสดงถึงความสมดุลดังกล่าว

 

อาสนวิหารมีความสูงของหอระฆังตั้งแต่ยอดหอคอยจนถึงพื้น 32 เมตร ส่วนด้านในผนังและเพดานตกแต่งด้วยจิตรกรรมแบบเฟรสโกและประติมากรรมปูนปั้นที่แสดงถึงเรื่องราวความเชื่อของศาสนาคริสต์

 

 

โรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนอัสสัมชัญได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยคุณพ่อเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2428 โดยใช้เรือนไม้ขนาดเล็กเป็นที่สอนหนังสือแก่เด็กยากจนและกำพร้า กระทั่งเมื่อมีนักเรียนมากขึ้น คุณพ่อกอลมเบต์จึงเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อสร้างอาคารเรียนถาวรซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียนในปี 2444

ภราดา 5 ท่าน โดยการนำของภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ ภราดาอาแบล ภราดาออกุสต์ ภราดาคาเบรียล เฟอร์เร็ตตี และภราดา ฟ. ฮีแลร์ ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อสานต่องานด้านการศึกษาจากคุณพ่อกอลมเบต์ ทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญกลายเป็นโรงเรียนแห่งแรกในเครือคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์หลุยส์ โรงเรียนที่ใช้คำนำหน้าว่า ‘อัสสัมชัญ’ 11 แห่ง และมหาวิทยาลัย 1 แห่ง

 

การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับอาสนวิหารอัสสัมชัญ คือการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นการส่วนพระองค์ ตามรายงานของพระสังฆราชแปร์รอส ดังนี้

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1946

เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง เวลา 16.30 น. โดยรถยนต์พระที่นั่ง (ของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ถึงบริเวณอาสนวิหาร เวลา 16.45 น. พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ (พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) มีผู้ตามเสด็จคือพระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้เฝ้ารับเสด็จมีสัตบุรุษคริสตังจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักเรียนหญิงชายกำลังเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ หน้าลานอาสนวิหาร พระสังฆราชแปร์รอส ในชุดประจำตำแหน่งสีม่วง รับเสด็จยังรถยนต์พระที่นั่ง นำเสด็จพระราชดำเนินประทับหน้าโบสถ์อัสสัมชัญ พระสังฆราชได้กราบบังคมทูลอย่างสั้นๆ แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเยือน และพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบพอสมควร (ระหว่างนั้นพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ตลอดเวลา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระหัตถ์สัมผัสแก่พระสงฆ์ทุกองค์ที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ (เช่น คุณพ่อแปรูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหาร, คุณพ่อโชแรง ที่คุ้นเคยกับพระองค์เจ้าธานีนิวัติ, คุณพ่อยอลี, คุณพ่ออาทานาส ปลัดชาวไทย) ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ภายในอาสนวิหารสักพักหนึ่ง แล้วก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับนั้น คุณพ่อโชแรงได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมครั้งนี้มิได้กระทำอย่างเป็นทางการ พระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบสากลธรรมดา พระสนับเพลายาวสีขาว ฉลองพระบาท มิได้ทรงพระมาลาหรือแม้แต่ถุงรองพระบาทเลย

 

ที่มา:
www.catholichaab.com
www.assumption-cathedral.com
th.wikipedia.org
th.wikipedia.org

 

FACT BOX:

  • คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ (เจ้าอาวาสในช่วงปี 2532-2537) ให้ข้อมูลว่านายโรเช ลามาช (ต้นตระกูลลามาชในประเทศไทย) เป็นผู้บริจาครูปแม่พระซึ่งประทับที่หน้ายอดมุขวัดอัสสัมชัญ
  • สำหรับนายโรเช ลามาซ อดีตเป็นครูฝึกสอนทหารไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับพระราชทานยกเป็นหลวงอุปเทศทวยหาร หลังลาออกจากราชการในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ได้ตั้งบริษัทสั่งของจากประเทศฝรั่งเศสมาขาย ด้วยความสนิทสนมกับคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ จึงสั่งรูปแม่พระปฏิสนธินิรมลเพื่อถวายแก่วัด ขณะนั้นวัดอัสสัมชัญหลังเก่าซึ่งมีชื่อว่า แม่พระยกขึ้นสวรรค์ แต่ยังไม่มีรูปแม่พระ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ จึงขอรูปแม่พระไว้ ถึงแม้จะเป็นองค์ละปางก็ตาม
  • เมื่อมีการสร้างวัดอัสสัมชัญหลังใหม่ คุณพ่อกอลมเบต์จึงอัญเชิญรูปแม่พระประทับที่หน้ายอดมุข

 

DID YOU KNOW?

สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยและอาสนวิหารอัสสัมชัญเมื่อปี 2527

 

Tags: , , , , , , ,