ในปี 2549 นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ได้รับเชิญไปแสดงงานในโครงการศิลปะชื่อ ‘Diaspora’ ที่ TheatreWorks ประเทศสิงคโปร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาค้นพบว่าตนเองไม่ได้เป็นศิลปินไทยเชื้อสายอินเดียอย่างที่เข้าใจมาตลอด 35 ปี โครงการศิลปะครั้งนั้นนำนาวินไปสู่การสืบค้นที่มาของครอบครัว ซึ่งอพยพย้ายจากอินเดียมาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเผชิญกับคำถามว่า อันที่จริง เขาเป็นคน ‘อินเดีย’ หรือไม่

เหตุที่อัตลักษณ์ของนาวินซับซ้อนกว่าที่คิดอยู่ที่ว่า หากจะนับจากเส้นเขตแดน ตำบลคุชรันวาลา (Gujranwala) ในแคว้นปัญจาบที่บรรพบุรุษของนาวินจากมานั้น บัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถาน ความเข้าใจที่ว่าตนเองเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดียเกิดจากการที่บรรพบุรุษของเขาเดินทางออกจากคุชรันวาลาก่อนอินเดียประกาศเอกราช และแบ่งแยกดินแดนเป็นประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน เมื่อปี 2490

เมื่อ ‘ภูมิกายา’ (geo-body) ของรัฐชาติสมัยใหม่ถูกกำหนดจากเส้นเขตแดนและแผนที่ การแบ่งแยกอินเดียกับปากีสถานเมื่อปี 2490 จึงส่งผลโดยตรงต่อความลักลั่นในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของนาวิน เขาจะกำหนดตัวตนอย่างไรในเมื่อแม้แต่ถิ่นกำเนิดยังเปลี่ยนนิยาม หากจะเรียกให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน นาวินคือศิลปินไทย-ปัญจาบี แต่ขณะเดียวกัน สถานกงสุลอินเดียที่เชียงใหม่ก็แนะนำให้เขาขอทำบัตรสำหรับบุคคลเชื้อชาติอินเดีย (Person of Indian Origin) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เขาเดินทางเข้าอินเดียได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

นอกจากนี้ นาวินและครอบครัวยังมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์ในประเทศไทย คำว่า ‘แขก’ ที่มีความหมายว่า ‘ผู้มาเยือน’ ที่ชาวไทยใช้เรียกชาวอินเดีย อาหรับ หรือชาติมุสลิมอื่นๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณบ่งบอกความเป็น ‘คนอื่น’ แม้เข้ามาตั้งรกรากจนเป็นชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แขกก็ยังคงเป็นแขก คำว่า diaspora หรือการพลัดถิ่นจึงมีนัยถึง ‘ความผิดที่ผิดทาง’ ของประชากรที่ต้องไปตั้งหลักแหล่งในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของตน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจึงมักเป็นการหวนหาบ้านเกิด

กระนั้นก็ตาม ในกรณีของนาวิน ถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษก็ไม่อาจให้ความรู้สึกของ ‘บ้าน’ ได้อย่างสนิทใจ เพราะปากีสถานเป็นประเทศอิสลาม แต่บรรพบุรุษของนาวินเป็นฮินดู ความเป็นอื่นจึงซ้อนทับด้วยความต่างทางศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น นาวินผู้เดินทางแสดงงานศิลปะทั่วโลกยังแต่งงานกับภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่น มีลูกสาวเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น มีบ้านที่ญี่ปุ่น เขาพูดภาษาไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ และอู้กำเมืองไปพร้อมๆ กัน

นิทรรศการ ‘เรื่องเล่าบ้านๆ เรื่องราวนาวิน’ (A Tale of Two Homes Tales of Navin) ที่ร้านโอเค ร้านขายผ้าของครอบครัวลาวัลย์ชัยกุล (สกุลเดิมคือ ลาเวิ้ล) ในตลาดวโรรสหรือกาดหลวงเมื่อปี 2558 จัดขึ้นเพื่อฉลองอายุครบ 80 ปี แด่คุณพ่อของศิลปิน และครบรอบ 20 ปี นาวินโปรดักชั่น โดยประมวลเอาประวัติศาสตร์ส่วนตัวของศิลปินไว้ในรูปของนิทรรศการจัดวาง กินพื้นที่ของตึกแถวจากชั้นล่างถึงดาดฟ้า

ตึกแถวหลังนี้เป็นบ้านเก่าของนาวิน ปัจจุบันใช้งานเพียงชั้นล่างที่เป็นร้านขายผ้า ส่วนชั้นบนถูกทิ้งร้างมานานปี นาวินคืนชีพให้ห้องรกร้างและข้าวของที่เคยจมกองฝุ่น ให้กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะชั่วคราว บอกเล่าตำนานและธุรกิจขายผ้าของครอบครัวลาวัลย์ชัยกุล ชั้นล่างที่เป็นร้านขายผ้าจึงดำเนินกิจการไปตามปกติพร้อมๆ กับการเป็นงานศิลปะ ผนังด้านหนึ่งของร้านติดตั้งภาพเขียนขนาดใหญ่ของสมาชิกในครอบครัวและผู้คนในความทรงจำของศิลปิน ฉากหลังมีป้ายชื่อเมืองเชียงใหม่ คุชรันวาลา และร้านโอเค ภาพเขียนชิ้นนี้สอดคล้องกับภาพไม้เมตร อุปกรณ์สำคัญของนายห้างร้านขายผ้าที่แขวนคู่กับภาพปู่ของศิลปินที่โถงบันไดด้านบน

‘เรื่องเล่าบ้านๆ เรื่องราวนาวิน’ พาเราดำดิ่งเข้าไปในกาลเวลาและเรื่องราวของครอบครัวศิลปินห้องนอนพ่อแม่ของนาวินบนชั้นสามถูกจัดขึ้นมาใหม่เหมือนสมัยที่ทั้งสองยังเป็นหนุ่มสาว บนเตียงมีกลีบกุหลาบโรยเป็นรูปหัวใจ ล้อมรอบด้วยดอกมะลิตูม หัวเตียงมีภาพถ่ายวันแต่งงาน ปลายเตียงมีตู้เสื้อผ้าที่ข้างในบรรจุภาพเขียนรูปแม่ของนาวินในชุดส่าหรียืนเคียงคู่กับเด็กหญิงมะลิ (ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ มาริ) ลูกสาวของนาวินในชุดกิโมโน

ในความเป็นจริง ย่ากับหลานไม่เคยพบกัน เพราะแม่ของนาวินเสียชีวิตก่อนที่เขาจะแต่งงาน ศิลปะจึงนำไปสู่การพบกันเชิงจินตนาการในพื้นที่พิเศษของภาพเขียน การพบกันระหว่างผู้ที่จากไปกับผู้ที่ยังอยู่ และระหว่างนาวินในวัยเด็กสวมชุดนักเรียนกับเด็กหญิงมะลิในอีกภาพหนึ่ง

ทว่าเรื่องเล่าในนิทรรศการของนาวินไม่ได้อยู่ในรูปของภาพเขียนเท่านั้น จดหมายที่กระจายอยู่ทั่วทั้งตึกทำหน้าที่เรียงร้อยเรื่องราวและผลงานแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน เพิ่มทั้งมิติที่เป็นส่วนตัวและทำให้ภาพความสัมพันธ์ของครอบครัวลาวัลย์ชัยกุลชัดเจนขึ้น

เสียงเล่านิทานเรื่อง ‘Tales of Rawal’ ที่ภรรยาชาวญี่ปุ่นเล่าให้มะลิฟังดังคลออยู่ในอีกห้องที่แสดงภาพมะลิเล่นกระดานหกอยู่หน้าสถานีรถไฟเมืองคุชรันวารา ที่ที่แม่ของศิลปินในวัยเดียวกันต้องขึ้นรถไฟจากมาเพื่อไปขึ้นเรือที่เมืองกัลกัตตาในแคว้นเบงกอล ก่อนจะล่องมาจนถึงประเทศไทย

ช่วงเวลาสิบกว่าปีจาก ‘Diaspora’ (2549) สู่ ‘Navin of Bollywood’ (2550) ‘Navinland Cinema’ (2551) ‘มหากาด’ (Mahakad, 2553) ‘Places of Rebirth’ (2554) ‘เรื่องเล่าบ้านๆ เรื่องราวนาวิน’ และ ‘Once Upon A Time in Little India’ (2560) มาจนถึง ‘แขกไปใครมา’ (อยู่ในระหว่างดำเนินการ) โครงการศิลปะเหล่านี้ค่อยๆ นำนาวินออกจากการสืบค้นประวัติศาสตร์ครอบครัวไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ของอินเดียพลัดถิ่นในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ณ จุดที่ยังไม่สิ้นสุดของการทำงานศิลปะ นาวินไม่ได้เพียงแค่เล่าถึงการตั้งถิ่นฐานของครอบครัวตนเองหรือเฉพาะคนเชื้อสายอินเดียในเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังปักหมุดชุมชนคนอินเดียพลัดถิ่นลงทั้งในโลกศิลปะและประวัติศาสตร์โลก ที่การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของศตวรรษที่ 20

 

FACT BOX:

เมืองคุชรันวาลาเคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ ปัจจุบันอยู่ในแคว้นปัญจาบ        ประเทศปากีสถาน ตั้งอยู่ห่างจากด่าน Wagah ชายแดนปากีสถาน-อินเดีย 92 กิโลเมตร

Tags: , , , , , ,