องค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) คาดการณ์ว่าในปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เริ่มจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศไทยทุกวันนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ หรือเรียกว่า Aged Society นั่นหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะในปี 2560 นับเป็นครั้งแรกที่มีประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ จากการลดภาวะการเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และอัตราการตายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หากเมื่อตัดภาพมา ท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวันของหลายต่อหลายคนซึ่งมีหัวใจหนุ่มสาวที่ต่างกำลังมองหาใครอีกคนมาร่วมทุกข์ ร่วมสุขตอนแก่เฒ่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่นาน อายุก็ล่วงเลยขึ้นต้นด้วยเลขหก และจำเป็นต้องเริ่มวัยเกษียณทั้งที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

น่าสนใจไม่น้อยเมื่อ

ผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่าซึ่งเป็นบริษัทประกันสุขภาพระดับโลกจากสหรัฐอเมริการะบุว่า คนไทยวัยเกษียณที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองแก่ และยังต้องการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยว ทำงานอาสาเพื่อสังคม รวมถึงยังอยากทำงานเพื่อให้ตัวเองรู้สึกสนุกสนานและกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ ผลสำรวจเดียวกันนี้ยังบอกด้วยว่ามี ‘กับดักอายุ’ ซึ่งเกิดจากการยังไม่รีบเตรียมตัวและเตรียมพร้อมด้านการเงินเพื่อใช้ชีวิตเกษียณอย่างมีคุณภาพ

 

กระโดดข้าม ‘กับดักอายุ’ ของคนไทยไปด้วยกัน 

เริ่มด้วยกับดับแรก ถึงแม้คนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแก่ แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับมองว่าคนที่มีอายุ 60 ปีนั้นแก่แล้วและไม่สามารถทำงานได้อีก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทุกประเทศจะรู้สึกว่าคนแก่คือคนที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไป และมีอายุสูงถึง 70 ปีในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างอังกฤษ สเปน และนิวซีแลนด์

กับดักต่อมาคือค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพก็คงเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน คนจำนวนหนึ่งไม่ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม และไม่ได้ใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐ สถิติชี้ว่า คนวัยทำงานส่วนใหญ่เลือกรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยด้วยตัวเอง มักซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานมากกว่าการเดินทางไปพบแพทย์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนประกันสุขภาพเอกชนที่ผูกกับบริษัทอาจไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้คนวัยทำงานมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ยังต้องควักกระเป๋าสตางค์ของตัวเองเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนต่างที่เกิดขึ้นแทนการวางแผนค่ารักษาพยาบาลในระยะยาว

 

‘กับดักอายุ’ เกิดจากการยังไม่รีบเตรียมตัวและเตรียมพร้อมด้านการเงินเพื่อใช้ชีวิตเกษียณอย่างมีคุณภาพ

กลับกัน คนที่มีอายุย่าง 50 ปีขึ้นไปมักเลือกเดินทางไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยมากกว่ารักษาด้วยตัวเอง เฉลี่ยค่ารักษาพยาบาลประมาณ 11,000 บาทต่อปี และเมื่อเข้ามีอายุ 60 ปีขึ้นไป ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อยู่ที่ประมาณ 23,000 บาทต่อปี

ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือความมั่นคงทางด้านการเงินของตัวเองจากกรณีขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้และสภาพเศรษฐกิจผันผวน คนวัยทำงานเพียงหนึ่งใน 10 เท่านั้นที่บอกว่าตัวเองมีความพร้อมทางด้านการเงินแม้จะไม่ได้ทำงาน และมีผู้สูงอายุเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าตัวเองมีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณ

เหล่านี้ล้วนเป็นเหมือน ‘กับดักอายุ’ ของคนไทยที่เราอาจต้องเผชิญร่วมกันในอนาคต เอาเป็นว่าถึงตอนนี้คุณจะอายุเท่าไร หรือหัวใจจะหนุ่มสาวแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดที่คนวัยเกษียณอยากบอกไว้คือ “อย่าชะล่าใจ เพราะเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว”

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

 

อ้างอิง
Cigna
www.stou.ac.th
www.fopdev.or.th

FACT BOX:

การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่าเป็นการศึกษาการรับรู้และทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตัวเอง ศึกษาในรูปแบบออนไลน์ มุ่งศึกษาสุขภาพและความเป็นอยู่ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ สุขภาพและความเป็นอยู่ด้านร่างกาย สังคม ครอบครัว การเงิน และการงาน ซึ่งคะแนนที่ได้จากการสำรวจนั้นวัดจากความคิดเห็นโดยรวมของประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิกและสหราชอาณาจักร

Tags: , , , , , , ,